ร้อนสุดๆ ยอดใช้ไฟฟ้าพุ่งทำลายสถิติปี 2565 แตะ30,936 เมกะวัตต์

- Advertisment-

ร้อนจัด ยอดใช้ไฟฟ้าพุ่งทำลายสถิติของปี 2565 ถึง 30,936.5 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา นับเป็นพีคไฟฟ้ารอบ 2 ของปี 2565 ขณะพยากรณ์อากาศคาดอุณหภูมิมีโอกาสสูงแตะ 41 องศา ระหว่าง 23-29 เม.ย. นี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานชี้ยอดใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นตามสภาพอากาศ วอนประชาชนลดใช้ไฟฟ้าเท่าที่ทำได้ตลอดปี 2565  หรือจนกว่าแหล่งก๊าซฯ เอราวัณจะกลับมาผลิตเต็มศักยภาพ ระบุเตรียมหาเครื่องมือวัดผลการลดใช้ไฟฟ้าประชาชนพร้อมมาตรการกระตุ้นให้เห็นผลชัดเจน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า ยอดใช้ไฟฟ้าของไทยในระบบการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) พุ่งทำสถิติสูงสุดในรอบปี 2565 เป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2565 เวลา 20.49 น. โดยมียอดใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) อยู่ที่ 30,936.5 เมกะวัตต์  เนื่องจากสภาพอากาศร้อนสะสมต่อเนื่อง โดยพยากรณ์อากาศคาดการณ์ประเทศไทยอาจมีอุณหภูมิเฉลี่ยแตะ 41 องศา ระหว่างวันที่ 23-29 เม.ย. 2565 นี้

โดยพีคไฟฟ้ารอบแรกของปี 2565  เกิดเมื่อวันที่ 26 เดือน มี.ค. 2565 เวลา 20.39 น. ยอดใช้ไฟฟ้ารวม 30,261.6 เมกะวัตต์ และเมื่อ 23 เม.ย. 2565 ได้เกิดพีคไฟฟ้ารอบสองขึ้นดังกล่าว ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับพีคไฟฟ้าของปี 2564 พบว่าปี 2564 มียอดใช้ไฟฟ้าสูงกว่าปี 2565 โดยแตะระดับ 31,023.1 เมกะวัตต์

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าล่าสุดเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2565 พบว่า ยอดใช้ไฟฟ้ายังคงทะลุ 3 หมื่นเมกะวัตต์ โดยอยู่ที่ระดับ 30,909.8  เมกะวัตต์ เมื่อเวลา 14.54 น.  ซึ่งหากตลอดสัปดาห์นี้อุณหภูมิยังสูงและร้อนต่อเนื่องอาจมีโอกาสเกิดพีคไฟฟ้าของปี 2565 รอบที่ 3 ได้  ส่วนพีคไฟฟ้าระดับประเทศ ที่ทำสถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 32,272.8 เมกะวัตต์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2562 เวลา 14.27 น.

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า ยอดใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นไปตามสภาพอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามาตรการขอความร่วมมือลดใช้ไฟฟ้าจากภาครัฐจะล้มเหลว เพียงแต่มีปัจจัยหลายด้านทำให้ยอดใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ทั้งด้านอากาศร้อน และมาตรการ Work from home ที่ยังใช้กันอยู่บางหน่วยงาน

ทั้งนี้การขอความร่วมมือลดใช้ไฟฟ้าในปี 2565 นี้ แตกต่างจากปีอื่นๆที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ได้มุ่งหวังที่การลดพีคไฟฟ้า แต่มุ่งไปที่การลดใช้ไฟฟ้าเพื่อทำให้ลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลง จนส่งผลให้ยอดใช้ก๊าซฯผลิตไฟฟ้าพอดีกับปริมาณก๊าซฯที่ประเทศไทยผลิตได้เอง  ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ที่มีราคาแพง ซึ่งการขอความร่วมมือลดใช้ไฟฟ้าในครั้งนี้จะเป็นมาตรการระยะยาวไปตลอดปี 2565 หรือจนกว่าก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณจะกลับมาผลิตได้เต็มศักยภาพที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันผลิตได้ประมาณ  399 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในช่วงเริ่มต้นการผลิตปิโตรเลียมด้วยระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC) แทนระบบสัมปทาน

อย่างไรก็ตามปัจจุบันภาครัฐยังไม่มีเครื่องมือตรวจวัดการลดใช้ไฟฟ้าของประชาชน ซึ่ง กกพ. กำลังหารือถึงแนวทางการทำเครื่องมือวัดผลการลดใช้ไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนได้เห็นอย่างชัดเจน พร้อมมาตรการขอความร่วมมือลดใช้ไฟฟ้าอย่างเข้มข้นต่อไป

Advertisment

- Advertisment -.