ร้อนจัด! ยอดใช้ไฟฟ้าพีคทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 34,826.50 เมกะวัตต์ สำนักงาน กกพ. วอนประชาชนประหยัดไฟฟ้า

- Advertisment-

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน  (สำนักงาน กกพ.) เผยไทยใช้ไฟฟ้าทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ถึง 34,826.50 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2566 เมื่อเวลา 21.41 น. เหตุสภาพอากาศร้อนจัด ประชาชนแห่ใช้เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น พัดลม คลายร้อน วอนประชาชนช่วยประหยัดไฟฟ้า พร้อมตรวจสอบหน่วยการใช้ไฟฟ้าหากค่าไฟฟ้าสูงผิดปกติ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน  (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า จากสภาวะอากาศร้อนจัดในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมาทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง และเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2566 ช่วงเวลา 21.41 น.ได้เกิดสถิติความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบไฟฟ้า หรือ ค่าพีค (Peak) ใหม่ อยู่ที่ 34,826.50 เมกะวัตต์ สูงกว่า Peak เดิม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 เวลา 14.30 น. ที่ 33,177.30 เมกะวัตต์ จากสภาพอากาศร้อนจัดในช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 4 – 7 พ.ค. 2566 ส่งผลให้ประชาชนมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อคลายร้อน อีกทั้งเครื่องทำความเย็นประเภทต่างๆ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น พัดลม มีความต้องการใช้ไฟฟ้าปริมาณเพิ่มขึ้นเพื่อทำความเย็นให้มากขึ้นตามภาวะอากาศร้อนจัดเช่นกัน

สำนักงาน กกพ. ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกันประหยัดการใช้พลังงาน ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า ตามหลัก 5 ป. ได้แก่ ปิดไฟที่ไม่ใช้ หรือไม่จำเป็น ปรับแอร์ที่อุณหภูมิ 26 องศาเซลเซียส ปลดปลั๊กไฟเมื่อเลิกใช้ เปลี่ยนหลอดไฟเป็นแบบ LED และปลูกต้นไม้เพื่อเป็นร่มเงาและช่วยลดอุณหภูมิให้กับตัวบ้าน ร่วมกันประหยัดและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดภาระค่าไฟฟ้า

- Advertisment -

พร้อมกันนี้ ขอให้ประชาชนได้มีการตรวจสอบ “หน่วยการใช้ไฟฟ้า”ที่เรียกเก็บค่าไฟฟ้าในบิลค่าไฟรอบเดือนพ.ค. 2566 ของท่านว่ามีความผิดปกติหรือไม่ด้วย เพราะค่าไฟที่เพิ่มขึ้นอาจจะเป็นได้ทั้งจากการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าผิดปกติ และอีกสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากสภาวะอากาศร้อนทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นกว่าเดิมได้และส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ปัจจุบันสำหรับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่การเรียกเก็บค่าไฟฟ้าเป็นแบบอัตราค่าไฟฟ้าแบบก้าวหน้าคือ  ยิ่งใช้ไฟฟ้าจำนวนหน่วยมากขึ้นก็จะถูกเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในอัตราที่แพงขึ้นด้วย เพื่อให้สะท้อนต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้น ตามกระบวนการผลิตไฟฟ้าของไทยที่เริ่มผลิตจากต้นทุนที่มีราคาถูกก่อน และเมื่อการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นจึงจะมีการผลิตไฟฟ้าจากต้นทุนที่แพงขึ้น แม้ค่าไฟฟ้าในงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 จะไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น โดยเรียกเก็บในอัตราค่าไฟฟ้า 4.70 บาทต่อหน่วยก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้ขออนุมัติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
เพื่อใช้เงินงบประมาณในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง สำหรับงวดเดือนพ.ค.-ส.ค. 2566 (4 เดือน) โดยผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะได้รับส่วนลดแบบขั้นบันได กำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราส่วนลดเดียวกันกับช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 ดังนี้

(1) ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 1-150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 92.04 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้า ตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) เรียกเก็บและส่วนลด 1.39 สตางค์ต่อหน่วย (2) ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 151-300 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 67.04 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) เรียกเก็บและส่วนลด 26.39 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้ได้รับการช่วยเหลือรวมทั้งสิ้นประมาณ 18.36 ล้านราย ใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 7,602 ล้านบาท

Advertisment

- Advertisment -.