ร้อนจัด มาตรการประหยัดไฟฟ้ายังไม่ได้ผล วันนี้ยอดใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

N2032
- Advertisment-

ยอดใช้ไฟฟ้าวันนี้(28 เม.ย.65)​พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำลายสถิติพีคไฟฟ้าประเทศที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2562 เหตุอากาศร้อนจัดดันความต้องการใช้ไฟสูงถึง 33,177.3 เมกะวัตต์ สะท้อน​ถึง​มาตรการ​ประหยัด​ใช้​ไฟฟ้า​ที่ยังไม่ได้​ผล

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ยอดใช้ไฟฟ้าของไทยในระบบการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ วันที่ 28 เม.ย. 2565 ได้พุ่งทำสถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค)ของประเทศ ณ เวลา 14.30 น. ของวันนี้ 28 เม.ย. 2565 โดยมีการใช้ไฟฟ้ารวม 33,177.3 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นสถิติที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสูงกว่าพีคของประเทศที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2562 ที่ 32,272.8 เมกะวัตต์ ณ วันที่ 3 พ.ค. 2562 เวลา 14.27 น.

โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าที่พุ่งสูงสุดดังกล่าวเนื่องจากสภาพอากาศทั่วประเทศยังคงร้อนสะสม โดยพยากรณ์อากาศคาดการณ์ประเทศไทยอาจมีอุณหภูมิเฉลี่ยแตะ 41-42 องศา ระหว่างวันที่ 23-29 เม.ย. 2565 นี้ แต่ 28 เม.ย.-2 พ.ค. 2565 จะมีพายุฤดูร้อนเข้ามาช่วยลดอุณหภูมิลงได้นิดหน่อย

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามเมื่อวานนี้ 27 เม.ย. 2565 ก็เกิดพีคไฟฟ้าทำลายสถิติของปี 2565 ด้วย โดยยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 32,898.6 เมกะวัตต์ ณ เวลา 22.36 น. ซึ่งนับเป็นพีคไฟฟ้าของปีนี้ รอบที่ 3

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ออกมาขอความร่วมมือประชาชนลดใช้ไฟฟ้าในปี 2565 นี้ เนื่องจากเป็นปีที่ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดปริมาณลง จากการที่การผลิตก๊าซในแหล่งเอราวัณที่เปลี่ยนระบบจากสัมปทานไปสู่ระบบแบ่งปันผลผลิตในคืนวันที่ 23 เม.ย ต่อเนื่องคืนวันที่ 24 เม.ย. 65 ไม่เป็นไปตามข้อตกลง โดยมีปริมาณก๊าซลดเหลือ 399 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน จากที่ควรจะอยู่ที่ 800 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน ซึ่งทำให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG ที่มีราคาแพงจากต่างประเทศเข้ามาทดแทน

ทั้งนี้ราคาSpot LNG ในปี 65 สูงกว่าราคาเมื่อปี 63 และ 64 เป็นอย่างมาก ดังนั้นหากทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกันประหยัดการใช้ไฟฟ้า ก็จะทำให้ กฟผ.ต้องสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้LNG ที่มีต้นทุนสูงให้เพียงพอรองรับความต้องการใช้ และจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่จัดเก็บกับประชาชน

ทั้งนี้ในการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่าเอฟที งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.65 มีภาระต้นทุนค่าเอฟทีที่ควรจะต้องปรับขึ้นสูงถึง 129.91 สตางค์ต่อหน่วยหรือคิดเป็นเงินประมาณ 80,193 ล้านบาท

Advertisment

- Advertisment -.