ราช กรุ๊ป ยื่น กกพ.ขอเป็น Shipper จัดหา LNG ใช้ในโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก1,400 MW

- Advertisment-

บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) เผยยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ขอเป็นผู้จัดหาและนำเข้า(shipper)ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)แล้ว รอนโยบายรัฐว่าจะอนุมัติหรือไม่ ยืนยันใช้โรงไฟฟ้าหินกองขนาด 1,400 เมกะวัตต์รองรับการใช้LNG หวังช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าอุตสาหกรรมให้แข่งขันได้ ขณะเดียวกันกำลังพิจารณาความเหมาะสมลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน ชี้ต้องสร้างหลายโรงในหลายพื้นที่จึงจะคุ้มค่าการลงทุน  ย้ำปี 2563 ตั้งงบลงทุน2 หมื่นล้านบาท สำหรับการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ(M&A) ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท และพัฒนาโครงการที่มีอยู่ในมืออีก 5-6 พันล้านบาท ตั้งเป้าหมายจะมีกำลังผลิตใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 700-800 เมกะวัตต์

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)เพื่อขอเป็นผู้จัดหาและนำเข้า(shipper) ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) แล้ว โดยมีโรงไฟฟ้าหินกอง จ.ราชบุรี กำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ เป็นคู่สัญญารับก๊าซฯ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM และกลุ่มบริษัท กัลฟ์ ที่ยื่นขอเป็น shipper  ต่อ กกพ. แล้วเช่นเดียวกัน  แต่ทาง กกพ. จะต้องรอนโยบายจากภาครัฐก่อนว่าจะให้เอกชนเป็นผู้จัดหาและนำเข้าLNGได้หรือไม่ ซึ่งระหว่างนี้ บริษัทฯ จำเป็นต้องยื่นขออนุญาตไว้ล่วงหน้าเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าหินกอง มีกำหนดสร้างเสร็จและขายไฟฟ้าเข้าระบบ(COD)ปี 2567-2568  ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอยี่ ขนาด700  เมกะวัตต์ และสร้างใหม่อีก 700 เมกะวัตต์  รวม 1,400 เมกะวัตต์ โดยในส่วนการจัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาตินั้น ที่ผ่านมาบริษัทฯได้ยื่นขอขยายการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) แล้ว และตามกำหนดจะต้องจัดหาให้เสร็จภายในต้นปี 2563

- Advertisment -

ทั้งนี้ นอกจากการเป็น shipper นำเข้า LNG แล้ว บริษัทฯ ยังพิจารณาอีกหลายแนวทางในการจัดหาก๊าซฯ ทั้งการเจรจาซื้อก๊าซฯจาก ปตท. และการซื้อก๊าซฯจาก กฟผ.กรณีที่กฟผ.เป็น shipper เองเป็นต้น

โดยการขออนุญาตเป็น shipperดังกล่าว เนื่องจากการเป็นบริษัทลูก ของ กฟผ. ต้องมีส่วนร่วมช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมของไทย เนื่องจากการนำเข้า LNG เองจะสามารถบริหารจัดการต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ลดลงได้

นอกจากนี้ในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนของภาครัฐนั้น บริษัทฯก็สนใจที่จะลงทุน แต่กำลังพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม เนื่องจากบริษัทฯ เป็นบริษัทใหญ่ดังนั้นการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนจะต้องหาหลายพื้นที่เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าหลายโรง จึงจะคุ้มค่าการลงทุน

นายกิจจา กล่าวว่า สำหรับในปี 2563 บริษัท ตั้งงบลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ(M&A) ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท และใช้พัฒนาโครงการที่มีอยู่ในมืออีก 5-6 พันล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายจะมีกำลังผลิตใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 700-800 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างเจรจาM&A หลายโครงการในหลายประเทศ โดยจะเน้นโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว และโครงการใหม่ที่มีใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าแล้ว เพื่อให้สามารถรับรู้รายได้ทันที

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี2563 คาดว่า รายได้จะดีขึ้นจากปี 2562 นี้ แม้ว่าจะมีแผนหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าหงสา ในประเทศลาว ช่วงกลางปีหน้า ประมาณ 50 วัน และโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอร์ยี่ ขนาด 700 เมกะวัตต์ จะหมดอายุลงในปีหน้า แต่ก็ได้รับการอนุมัติก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกอง1 และโรงไฟฟ้าหินกอง2 รวมกำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ทดแทน ขณะเดียวกันยังมีการรับรู้รายได้จาก 4 โครงการใหม่ รวม 395.54 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น ขนาด 119.11 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย ขนาด 102.5 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย ขนาด 23.99 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน ขนาด 149.94 เมกะวัตต์

ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าเซเปียน เซน้ำน้อย ใน สปป.ลาว นั้น บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD)ได้ในช่วงระหว่างวันที่ 1-6 ธ.ค.2562 นี้ และเตรียมทดสอบระบบในภาพรวมช่วงวันที่ 27-28 พ.ย. 2562 นี้

Advertisment