ราชกรุ๊ปเตรียมตั้งโฮลดิ้งคัมปานีใหม่เปิดทางพันธมิตรร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 1,400MW

cof
- Advertisment-

ราชกรุ๊ป เตรียมตั้งโฮลดิ้งคัมปานี ลงทุนโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 1,400 เมกะวัตต์ เปิดทางพันธมิตรรายใหม่ ร่วมถือหุ้น หลังมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟผ.และสัญญาก๊าซกับปตท. ที่เปลี่ยนขยับวันรอรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ เป็นสักขีพยาน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเตรียมการลงทุนโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก จำนวน 2โรง รวมกำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ โดยเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมของบริษัทไตรเอ็นเนอจี้ ขนาด 700เมกะวัตต์ ที่จะมีการปลดระวางจากระบบในปี2563  และอีกโรง ขนาด 700 เมกะวัตต์ เป็นการสร้างเพื่อเสริมความมั่นคงไฟฟ้าในภาคตะวันตกและภาคใต้ ซึ่งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ในช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มีมติให้ ราชกรุ๊ป( ชื่อเดิมคือบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) ที่ กฟผ.ถือหุ้น ร้อยละ45) เป็นผู้ดำเนินการลงทุน แทนการเปิดประมูลไอพีพี(เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่)  ว่า ทางสำนักงานอัยการสูงสุด และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้พิจารณาร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของทั้ง2โรงเป็นที่เรียบร้อย และส่งหนังสือสัญญากลับมาให้ กฟผ. และราชกรุ๊ป แล้ว เหลือเพียงการกำหนดวันลงนามในสัญญาร่วมกันเท่านั้น  โดยจะเป็นวันหลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่เข้าปฎิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการแล้ว  เนื่องจาก กฟผ.จะต้องมีการรายงานถึงแผนการดำเนินงานทั้งหมดให้รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่รับทราบก่อน  จากเดิมที่มีความพยายามจะเร่งลงนามให้จบในรัฐบาลคสช.

แหล่งข่าวกล่าวว่า ภายหลังการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และสัญญาซื้อขายก๊าซกับปตท.ที่จะเป็นผู้ซัพพลายเชื้อเพลิงระยะยาวให้กับโรงไฟฟ้าทั้ง2แห่ง  ทางราชกรุ๊ป จะมีการตั้งโฮลดิ้งคัมปานี ขึ้นมาลงทุนและเปิดทางให้มีพันธมิตรเข้ามาร่วมถือหุ้น โดยที่ราชกรุ๊ปจะยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งในส่วนของการตั้งโฮลดิ้งคัมปานี ขึ้นมาใหม่นั้น ได้มีการนำเสนอให้บอร์ดราชกรุ๊ปให้ความเห็นชอบแล้ว

- Advertisment -

ทั้งนี้มีการตั้งงบการลงทุนทั้งหมดเอาไว้ประมาณ 3หมื่นล้านบาท โดยโรงไฟฟ้าทั้งสองโรงจะเข้าระบบในปี2567และ2568

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center –ENC) รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มีนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ได้เห็นชอบให้ ราชกรุ๊ป เป็นผู้ดำเนินการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตกทั้ง2โรง โดยไม่ต้องมีการประมูล  ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับใหม่ หรือ PDP2018 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 24ม.ค. 2562 และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30เม.ย. 2562 เนื่องจาก กบง.เห็นว่า ราคาค่าไฟฟ้าใหม่ ที่มอบให้ กกพ.เป็นผู้เจรจาต่อรองกับราชกรุ๊ปนั้น ได้อัตราที่ต่ำแล้ว   อย่างไรก็ตาม กบง. ไม่ได้มีการแถลงข่าวถึงมติดังกล่าว รวมทั้งไม่ได้เปิดเผยอัตราค่าไฟฟ้าที่ราชกรุ๊ปขายให้กับกฟผ. ว่าเป็นอัตราเท่าไหร่

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า  มติกบง.ดังกล่าว เป็นการขออำนาจจาก ทั้งกพช.และครม. ในวาระเดียวกับที่นำเสนอแผนPDP2018  โดยระบุไว้ในมติแนบท้ายว่า ให้ กบง. ไปพิจารณาแนวทางการจัดหาโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผน PDP2018 ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับซื้อไฟฟ้า ระยะเวลา พื้นที่ ปริมาณและราคารับซื้อไฟฟ้า เทคโนโลยีและเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงประเด็นอื่นๆ โดยคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้ ความพร้อมและการยอมรับชนิดของเชื้อเพลิงในด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในระยะหลังนับตั้งแต่ การประชุมกบง.เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2562  ที่มีการเตรียมนำแผนPDP2018 เข้ากพช. กระทรวงพลังงานไม่ได้มีการนำมติ กบง.เผยแพร่สู่สาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ www.eppo.go.th เหมือนเช่นที่ถือปฎิบัติมาโดยตลอด รวมทั้งไม่ได้มีการเปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับมติ กบง.ต่อสื่อมวลชนสายพลังงานด้วย

Advertisment

- Advertisment -.