- Advertisment-

ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสัปดาห์ที่ผ่านมา (10-14 ม.ค. 65) ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เพิ่มขึ้น 4% และ NYMEX WTI เพิ่มขึ้น 4.8% เนื่องจากนักลงทุนมีมุมมองต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ว่าจะกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันอย่างจำกัด และสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมายังเจรจาไม่ได้ข้อสรุป และไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีการเจรจากันอีกเมื่อใด โดยทำเนียบขาวของสหรัฐฯ เผยเมื่อ 14 ม.ค. 65 ว่ารัสเซียมีแผนสร้างสถานการณ์ หรือจัดฉากเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการนำกำลังทหารเข้าบุกพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครนภายในเดือน ม.ค.- ก.พ. 65 นี้ และยูเครนอ้างว่าถูกรัสเซียโจมตีทางไซเบอร์ ทำให้สหรัฐฯ มองว่ารัสเซียละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวยูเครนอย่างร้ายแรง และอาจเปิดฉากสงครามในที่สุด

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 7 ม.ค. 65 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4.6 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 413.3 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2561
  • 11 ม.ค. 65 เกิดเหตุระเบิดท่อขนส่ง Gassoline ของบริษัทน้ำมันแห่งชาติเวเนซุเอลา PDVSA ทางตะวันออกของประเทศ โดยผู้ว่าการรัฐ Anzoategui นาย Luis Jose Marcano คาดว่าเป็นการก่อวินาศกรรม และกำลังซ่อมแซมความเสียหายโดยใช้เจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อไม่ให้การขนส่งหยุดชะงัก
  • National Oil Corp. (NOC) ของลิเบียรายงานว่าท่าเรือส่งออกน้ำมันทางตะวันออก อาทิ Es Sider (350,000 บาร์เรลต่อวัน), Ras Lanuf (220,000 บาร์เรลต่อวัน  ), Hariga (120,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Zueitina (70,000 บาร์เรลต่อวัน) ปิดดำเนินการเนื่องจากภูมิอากาศแปรปรวน อย่างไรก็ตามปัจจุบันลิเบียกลับมาผลิตน้ำมันดิบที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มจากช่วงต้นเดือน ที่ 729,000 บาร์เรลต่อวัน หลังจากสถานการณ์ความไม่สงบ ที่กองกำลังติดอาวุธปิดแหล่ง Sharara (300,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่ 20 ธ.ค. 64 เริ่มคลี่คลาย
  • รายงานประจำเดือน ม.ค. 65 ของ EIA รายงานอุปสงค์น้ำมันโลกปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 5.05 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 96.90 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ปรับลดจากคาดการณ์ครั้งก่อน 10,000 บาร์เรลต่อวัน) และคาดการณ์ปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 100.52 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ปรับเพิ่มจากครั้งก่อน 60,000 บาร์เรลต่อวัน) เนื่องจากอุปสงค์ในสหรัฐฯ และอินเดียเป็นหลัก

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

- Advertisment -
  • กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ จำหน่ายน้ำมันดิบจากคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ปริมาณรวม 18 ล้านบาร์เรล ให้บริษัทน้ำมัน 6 ราย ได้แก่ ExxonMobil, Valero, Phillip 66, Motiva Enterprises, Marathon Petroleum และ Gunvor USA ทั้งนี้สหรัฐฯ มีแผนระบายน้ำมันดิบจาก SPR รวม 32 ล้านบาร์เรล 
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ซึ่งบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) ช่วง ม.ค.- ธ.ค. 64 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.0% สูงสุดในรอบ 4 ทศวรรษ ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยอาจเริ่มในเดือน มี.ค. 65

Advertisment

- Advertisment -.