รัฐเร่งหลายมาตรการกระตุ้นความเชื่อมั่น นำประเทศฝ่ามรสุมเศรษฐกิจปีนี้

- Advertisment-

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมวูบต่ำสุดรอบ 10 เดือน กดดันรัฐบาลเร่งหลายมาตรการกระตุ้นความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุน หวังทุกฝ่ายเล่นในเกม นำพาประเทศฝ่ามรสุมเศรษฐกิจในปีนี้

เป็นที่คาดหมายกันมาก่อนล่วงหน้าแล้วว่าครึ่งหลังของปี 2562 รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจจากแรงกระแทกที่มาจากปัจจัยภายนอกประเทศ ซึ่งมีความผันผวนอันเนื่องมาจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่ยังยืดเยื้อและไม่มีท่าทีว่าจะลดราวาศอกให้กัน และจะกดดันให้รัฐมนตรีในกระทรวงเศรษฐกิจต้องระดมสารพัดมาตรการออกมากระตุ้นความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุน

สัญญาณที่ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แจ้งผ่านสื่อถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2562 ที่ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจจะไม่เติบโตอย่างที่คาด เพราะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังมีความกังวลว่า กำลังซื้อในประเทศจะหดตัวพร้อมกันทั่วทั้งประเทศ เห็นได้จากยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย และยอดการผลิตที่ปรับลดลงไปในทิศทางเดียวกัน

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยังเชื่อว่าแม้เศรษฐกิจในปีนี้ของไทยจะมีปัญหา แต่ก็จะเติบโตได้ในระดับ 3.5% โดยในเดือนกันยายน กระทรวงต่างๆ มีการระดมหลายมาตรการออกมาทั้งในระดับที่เป็นการสร้างบรรยากาศให้นักลงทุน ทั้งที่เป็นนักลงทุนที่มีฐานการลงทุนในประเทศอยู่แล้ว และนักลงทุนที่กำลังจะย้ายฐานการผลิตเข้ามาใหม่มีความมั่นใจ และมาตรการที่เป็นการกระตุ้นความเชื่อมั่นผู้บริโภคในประเทศ

โดยในระดับเศรษฐกิจมหภาค ครม.เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา เห็นชอบที่จะผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาล วงเงินลงทุนรวม 1.947 ล้านล้านบาท ให้มีความคืบหน้าและเกิดการลงทุนให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ฉวยโอกาสช่วงที่เงินบาทแข็งค่า นำเข้าเครื่องมือ เครื่องจักรเข้ามาลงทุนในประเทศ

ในขณะที่การกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ กระทรวงการคลัง ก็ออกมาตรการ “ชิมช้อปใช้” เชิญชวนให้ประชาชนลงทะเบียนในระบบเพื่อรับเงิน 1,000 บาท ออกไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดนอกพื้นที่ที่ระบุตามบัตรประชาชน ตั้งเป้าผู้ร่วมโครงการ 10 ล้านราย หวังให้เกิดการกระจายเงินทุนหมุนเวียนในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งนับตั้งแต่วันที่เริ่มให้มีการลงทะเบียนเมื่อวันที่ 27 ก.ย. จนถึงขณะนี้ก็พบว่าได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก และยังเปิดให้มีการลงทะเบียนต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 15 พ.ย. 2562

ด้านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก็มีการสั่งการให้สำนักบีโอไอ จัดทำโปรแกรมดึงดูดให้ภาคเอกชนนำเงินกองทุน วงเงิน 10,000 ล้านบาทออกไปใช้ประโยชน์ ตามเป้าหมายของ พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ส่วนของกระทรวงพลังงาน ก็มีความพยายามที่จะผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยส่งเสริมให้มีการใช้ศักยภาพเชื้อเพลิงในพื้นที่ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้และขายให้กับรัฐ ที่ประเมินกันเบื้องต้นว่าจะมีเม็ดเงินลงไปลงทุนในชุมชนกว่าแสนล้านบาท

ในขณะที่โจทย์ใหญ่ที่คนในวงการให้ความสนใจ และเกี่ยวข้องกับการสร้างความความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ คือ เรื่องของการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าผู้รับสัมปทานจะยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการ ก็ถูกปลดล็อก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ซึ่งตั้งคณะทำงานที่มีปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเจรจาเพื่อหาข้อยุติ ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี  รวมทั้งการเดินหน้าเจรจายุติปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่ประเมินว่าจะมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมจำนวนมากใช้ต่อไปได้อีกหลายสิบปี ที่หากสำเร็จจะช่วยพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ในระยะยาว

หลายๆ มาตรการภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจที่ดร.สมคิด นั่งกำกับ ซึ่งเร่งดำเนินการออกมาในช่วงเดือนกันยายนนี้ ถือเป็นงานยากที่ท้าทายต่อความสำเร็จและพิสูจน์ฝีมือของ ดร.สมคิด โดยเฉพาะการอยู่ในรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ที่ต้องรับแรงกระเพื่อมทั้งจากภายในพรรคพลังประชารัฐ พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง และแรงเสียดทานจากพรรคร่วมฝ่ายค้านที่จับตาดูอยู่ แถมด้วยความผันผวนจากปัจจัยเศรษฐกิจภายนอกประเทศ

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าประชาชนคนไทย คงไม่มีใครอยากเห็นชัยชนะของฝ่ายใดบนซากปรักหักพังของเศรษฐกิจในประเทศ จึงเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายต่างเล่นกันในเกม มองประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นตัวตั้ง เพื่อให้ประเทศฝ่ามรสุมทางเศรษฐกิจในปีนี้ไปได้ด้วยดี

Advertisment

- Advertisment -.