รัฐมนตรีพลังงานอาเซียนประชุมออนไลน์ เล็งเพิ่มกรอบซื้อไฟระหว่างลาว-ไทย-มาเลเซีย เป็น 400 MW

dav
- Advertisment-

กระทรวงพลังงานของไทยเตรียมเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 38 ผ่านระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกระหว่าง 18-19 พ.ย. 2563 ในช่วงไวรัสโควิด-19 ยังแพร่ระบาด โดยมีวาระสำคัญคือการเจรจาขยายความร่วมมือซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซียและสิงคโปร์ จาก 300 เมกะวัตต์ เป็น 400 เมกะวัตต์ พร้อมหารือเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้า ช่วยเมียนมาและกัมพูชา เพื่อก้าวเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าอาเซียน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC )  รายงานว่า  กระทรวงพลังงานของไทยเตรียมเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 38 ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. 2563 ซึ่งประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ โดยจะเป็นการประชุมแบบออนไลน์พร้อมกันเป็นครั้งแรกเนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยการประชุมครั้งนี้จะมีการหารือเกี่ยวกับการขยายความร่วมมือการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน แบบพหุภาคีไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคมากขึ้น จากเดิมที่ลงนามการซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง 3 ประเทศ คือ สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย (LTM) จำนวน 100 เมกะวัตต์ ต่อมาได้ขยายเป็น 300 เมกะวัตต์

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามการประชุมครั้งนี้ อาเซียนจะขยายความร่วมมือเชื่อมโยงไฟฟ้าเป็น 4  ประเทศ โดยรวมประเทศสิงคโปร์เข้ามาด้วยเป็น LTMS และสิงคโปร์จะเสนอขยายการซื้อขายไฟฟ้าอีก 100 เมกะวัตต์ เป็น 400 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น การจะลงนามขยายกรอบความร่วมมือเป็น 400 เมกะวัตต์ดังกล่าว จะต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ก่อน และจะต้องดำเนินการให้อยู่ภายใต้ข้อตกลงทางการทูตด้วย

นอกจากนี้ไทยจะมีการหารือเกี่ยวกับการขยายสายส่งไฟฟ้าจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะ กัมพูชาและเมียนมา เนื่องจากไทยมีปริมาณสำรองไฟฟ้าเกินความต้องการใช้มากเกือบ 50% ของความต้องการทั้งประเทศ โดยมีแนวคิดจะเชื่อมสายส่งไฟฟ้าทางด่านชายแดนแม่สอด จ.ตาก ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ไปที่เมียนมา ในพื้นที่ เมียวดี และย่างกุ้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีไฟฟ้าไม่พอใช้  ทั้งนี้อาจจะพิจารณาเป็นรูปแบบการให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมไฟฟ้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยแนวทางดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลาง(ฮับ)การซื้อขายไฟฟ้าในอาเซียน โดยไทยสามารถซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาวในราคาไม่แพงและส่งไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านที่ขาดแคลนไฟฟ้าได้ต่อไป และยังเป็นการช่วยลดปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศลงได้ด้วย

Advertisment

- Advertisment -.