รัฐบาลแจงค่าไฟฟ้าแพง เหตุราคาเชื้อเพลิงพุ่ง กฟผ.แบกภาระกว่าแสนล้าน ย้ำดูแลทุกส่วนอย่างเป็นธรรม

- Advertisment-

นายก แจง สภาฯ  เหตุค่าไฟฟ้าแพง จากต้นทุนเชื้อเพลิงสูงขึ้น แต่ไม่ได้ปรับราคามานาน ส่งผล กฟผ.แบกรับภาระแทนประชาชนกว่า 1 แสนล้านบาท ระบุจะดูแลให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ใช้และผู้ผลิตไฟฟ้า  ด้าน “สุพัฒนพงษ์” ชี้ค่าไฟฟ้างวดปลายปี 2565 จะพิจารณาสรุปสิ้นเดือน ก.ค. 2565 นี้ ย้ำดูแลกลุ่มเปราะบางมาโดยตลอด ระบุสำรองไฟฟ้าพุ่ง เกิดจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ระบาดฉุดการใช้ไฟฟ้าลด ยันหลังปรับแผน PDP ใหม่ จะลดไฟฟ้าสำรองเหลือ 15-20% ภายใน 5-7 ปี ขณะที่การซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมและชุมชน เพิ่มต้นทุนค่าไฟแค่ 1 สตางค์ต่อหน่วย ไม่ใช่ 25 สตางค์ ส่วนการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อน อัตรารับซื้อสูงสุดไม่เกิน 2.90 บาทต่อหน่วยและคงที่ 30 ปี

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านว่า สาเหตุที่ค่าไฟฟ้าปรับสูงขึ้นนั้นมีเหตุและผล ซึ่งมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงปรับสูงขึ้น ทั้งราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) , น้ำมัน , ถ่านหิน และค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้แบกรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้ามากกว่า 1 แสนล้านบาท  เพื่อจัดหาไฟฟ้าให้เพียงพอ ไม่เกิดปัญหาไฟดับ ไฟกระชาก และที่ผ่านมาก็ไม่ได้ปรับราคาต้นทุนเชื้อเพลิงมานาน ส่งผลให้ กฟผ.ต้องแบกรับภาระมากขึ้น แม้ล่าสุดในเดือน พ.ค. 2565 จะมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) มาอยู่ที่ 23 สตางค์ต่อหน่วย แต่ กฟผ.ยังต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าอยู่ ดังนั้นการพูดเรื่องค่าไฟฟ้าแพง ต้องมาดูกันในรายละเอียด และต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลพยายามดูแลอย่างดีที่สุดและให้ทุกฝ่ายอยู่รอดได้ทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ประกอบการด้วย

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านที่แสดงความเป็นห่วงเรื่องค่าไฟฟ้าและน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นว่า กรณีที่มีความเป็นห่วงเรื่องค่าไฟฟ้าแพง เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบมีมากกว่า 50% ทำให้เป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับภาคประชาชนนั้น ในการคำนวณข้อมูลของกระทรวงพลังงาน จะพบว่า ในส่วนของกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองจะเหลืออยู่ที่ 35% เท่านั้น แม้จะเห็นว่ากำลังการผลิตรวมจะมากถึง 50,000 เมกะวัตต์ แต่กำลังการผลิตไม่เหมือนกัน บางส่วนสามารถผลิตได้ตลอดทั้งวัน และบางส่วนไม่สามารถผลิตได้ตลอดทั้งวัน

- Advertisment -

ประกอบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง ขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้ามีการลงทุนไปล่วงหน้าแล้ว จึงทำให้เกิดกำลังการผลิตส่วนเกินแต่ก็อยู่ในเกณฑ์ 35% กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิด และไม่มีใครคิดว่าวันที่จัดทำการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเจอวิกฤติซ้อนวิกฤติ

อย่างไรก็ตามในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ที่ได้ปรับปรุงใหม่ ก็ได้ลดกำลังการผลิตไฟฟ้าในปี 2565 ลงให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ และอนาคตก็มีการพยากรณ์ไว้เผื่อกรณีการใช้ไฟฟ้าเติบโตขึ้นตามการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะเข้ามามากขึ้น ซึ่งเมื่อประเมินจากกำลังการผลิตไฟฟ้าและการใช้ที่จะเพิ่มขึ้นในระดับดังกล่าว จะส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองจะกลับมาอยู่ในระดับ 15-20% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าภายใน 5-7 ปีข้างหน้า

ส่วนกรณีที่มีความเป็นห่วงเรื่องกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนนั้น ในส่วนของแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม และขยะชุมชน ที่คาดว่าจะมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 200-300 เมกะวัตต์ เป็นระดับที่ไม่มาก และจะใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะเข้าสู่ระบบ แม้ว่าค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้น แต่ถือเป็นนโยบายของภาครัฐ และได้ผ่านการพิจารณาจากหลายหน่วยงาน ที่ประเมินว่าหากปล่อยไว้ ไม่จัดการกับขยะจะกลายเป็นปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อมที่มีต้นทุนมหาศาลและแพง หากนำมาผลิตไฟฟ้าจะเกิดประโยชน์และรักษาธรรมชาติ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งจะมีความคุ้มค่ามากกว่า  แม้ราคาจะแพงเพราะเทคโนโลยี แต่ก็เพียง  1 สตางค์ต่อหน่วย  ไม่ใช่ 25 สตางค์ต่อหน่วย

รวมถึง เรื่องของการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อน ที่รัฐบาลดำเนินการอย่างระมัดระวัง แม้จะมีคำถามว่าเมื่อก่อนทำไม ราคารับซื้ออยู่ที่บาทกว่า แต่วันนี้กว่า 2 บาท และอาจถึง 2.90 บาทต่อหน่วย ซึ่งต้องขอชี้แจงว่า เขื่อนมีลักษณะตอบโจทย์พลังงานสะอาด โดยการซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังน้ำ จะซื้อตามปริมาณที่ผลิตได้จริงและคนที่รับประกันคือผู้ประกอบการ ซึ่งการรับประกันขั้นต่ำจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องค่าความพร้อมจ่าย

อีกทั้งการอนุมัติซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนมีขั้นตอนกระบวนการชัดเจนซึ่งหากอนุมัติวันนี้ จะใช้เวลาก่อสร้าง 6-7 ปี ราคาก็ไม่แพงแม้ว่าจะสูงสุดอยู่ที่ 2.90 บาทต่อหน่วย แต่เทียบกับอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบันก็ยังถูกกว่า และราคานี้จะคงที่ตลอดอายุสัญญา 30 ปี

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวถึงกรณีค่าไฟฟ้าว่า รายละเอียดต่างๆนั้น จะมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เป็นผู้พิจารณา อย่างไรก็ตามปัจจุบันก๊าซธรรมชาติก๊าซฯ ในอ่าวไทยลดลงเพราะใช้งานมากว่า 30 ปี และที่ผ่านมาก็ได้มีการเตรียมพร้อมรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ต้องเตรียมการล่วงหน้าหลายปี แต่เมื่อเกิดวิกฤติราคาก๊าซ LNG จากที่เคยอยู่ระดับ 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ก็ขึ้นไปแตะกว่า 40 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ในช่วงแรกรัฐบาลไม่อยากผลักภาระไปที่ประชาชน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็เข้ามาร่วมแบกรับภาระแทนประชาชน และในช่วงนี้ก็กำลังเป็นช่วงดำเนินการของ กกพ.ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ มีกระบวนการพิจารณา และมีทางเลือกค่าไฟฟ้าหลากหลาย รวมถึงได้หารือสมาคมธุรกิจต่างๆ ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่าจะเลือกแนวทางไหนที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศน้อยที่สุด ซึ่งก็ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ยังไม่มีข้อสรุปอย่างที่หลายฝ่ายคาดเดาไปก่อน ขณะเดียวกัน ทางกระทรวงพลังงาน ก็ได้มอบนโยบายกับ กกพ.ไปแล้ว โดยจะต้องสะท้อนต้นทุน แต่ก็จะต้องดูแลกลุ่มคนเปราะบางด้วย คาดว่า สิ้นเดือน ก.ค.นี้ จะมีความชัดเจนในเรื่องของอัตราไฟฟ้า

“และวันนี้ ต้องเรียนสมาชิกสภาฯที่เคารพ 20 สตางค์ที่ขึ้นไปก่อนหน้านี้ รัฐบาลดูแลกลุ่มเปราะบาง ครัวเรือนกว่า 80% ที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วยต่อเดือน ให้จ่ายค่าไฟฟ้าอัตราเดิมเท่ากับเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา หากใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งรัฐบาลก็ดูแลกลุ่มคนเปราะบางมาโดยตลอด”

นอกจากเรื่องไฟฟ้าแล้ว เรื่องของโครงสร้างราคาน้ำมัน กระทรวงพลังงาน ก็ทบทวนตลอดพยายามดูแลราคาให้เหมาะสมเพื่อรักษาการแข่งขันของประเทศ ซึ่งราคาน้ำมันเทียบกับภูมิภาค ไทยอยู่อันดับที่ 7-8 ถือว่าไม่แพง โดย เบนซิน ก็ปรับราคาลดลงรวดเร็ว แม้บางช่วงค่าการกลั่นจะสูงก็เป็นแค่ช่วงสั้น ซึ่งก็ต้องอดทน เพราะราคาสะท้อนต้นทุนที่ผันผวน ส่วนราคาดีเซล ที่มีผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจ รัฐบาลก็ดูแลโดยใช้กองทุนน้ำมันฯเข้าไปประคับประคองไม่ให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับก๊าซหุงต้มของไทย ราคาก็ไม่แพงหากเทียบกับเพื่อนบ้าน ซึ่งของไทย ราคาอยู่ที่ 378 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ขณะที่เพื่อนบ้านอยู่ที่ 800-900 บาทต่อถัง และปัจจุบัน รัฐบาลก็ยังอุดหนุนอยู่เดือนละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นการประคับประคองไม่ให้เกิดผลกระทบรุนแรง

ทั้งนี้จะเห็นว่า ในช่วงวิกฤตตั้งแต่ปี 2563 ถึง ก.ค.2565 รัฐบาลได้ใช้เงินเข้าไปลดผลกระทบจากต้นทุนพลังงานขาขึ้นรวมเป็นเงิน 237,755 ล้านบาท เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในภาพรวม แม้ว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะมีทิศทางเริ่มฟื้นตัว แต่อาจค่อนข้างช้า เพราะไทยยังต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยังมีอยู่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องดูแลต่อไป

Advertisment

- Advertisment -.