รัฐขอแบ่งกำไรโรงกลั่นกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนหุ้นโรงกลั่นร่วงยกแผง

- Advertisment-

แนวทางของรัฐที่จะขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซส่งส่วนแบ่งกำไรเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเสริมสภาพคล่องและนำมาลดราคาน้ำมันนั้นส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และทำให้หุ้นโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 แห่งร่วงยกแผงเมื่อปิดตลาดวันที่ 17 มิ.ย.2565 ในขณะที่ฐานะกองทุนน้ำมันติดลบหนักใกล้แตะแสนล้านบาทสูงสุดเป็นประวัติการณ์​

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy​ News Center -​ENC​ )​ รายงานว่า แนวทางการขอความร่วมมือให้โรงกลั่นน้ำมัน ทั้ง 6 แห่งและโรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. นำส่งส่วนแบ่งกำไร เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย. 65 มาจากการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน เพื่อหามาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชน อันเนื่องมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยประเด็นสำคัญที่สื่อมวลชนหลายสำนักนำเสนอคือ แนวทางการเจรจาขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาตินำส่งส่วนแบ่งกำไรเป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่ เดือน ก.ค.-ก.ย.65 ประกอบด้วย

กำไรค่ากลั่นน้ำมันดีเซลประมาณ 5-6 พันล้านบาทต่อเดือน เพื่อนำส่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเสริมสภาพคล่อง

- Advertisment -

กำไรจากค่าการกลั่นน้ำมันเบนซิน ประมาณ 1,000ล้านบาทต่อเดือน เพื่อมาลดราคาน้ำมันเบนซินให้กับผู้บริโภค

และ กำไรส่วนเกิน 50% ของโรงแยกก๊าซธรรมชาติประมาณ1,500 ล้านบาทต่อเดือน เข้าช่วยเสริมสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ผู้สื่อข่าว รายงานว่า แนวทางการขอความร่วมมือเพื่อแบ่งกำไรจากกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะสรุปเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี​ในวันที่ 21 มิ.ย.65 นั้นเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์​กันอย่างกว้างขวางทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยฝ่ายที่เห็นด้วยให้เหตุผลสนับสนุนว่าโรงกลั่นน้ำมันมีผลกำไรจากค่าการกลั่นที่สูงเกินไปในสถานการณ์​ที่ประชาชนผู้ใช้น้ำมันได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นเพราะน้ำมันแพง

ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย มองถึงธุรกิจโรงกลั่นและตลาดการค้าน้ำมันที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี โดยที่น้ำมันไม่ได้เป็นสินค้าควบคุมและรัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต รวมทั้งการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อใช้สร้างเสถียรภาพ​ด้านราคาไม่ให้เกิดความผันผวนอยู่แล้ว ดังนั้น แนวทางการขอความร่วมมือให้นำส่งส่วนแบ่งกำไรเข้ารัฐจึงเหมือนเป็นการแทรกแซงและกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน สะท้อนให้เห็นได้จากหุ้นของกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันทั้ง6 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งปิดทำการซื้อขายวันที่ 17 มิ.ย.65 หลังมีข่าวเรื่องรัฐขอส่วนแบ่งกำไรจากโรงกลั่น นั้นร่วงยกแผง โดยโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ หรือTOPที่ ปตท.ถือหุ้นใหญ่นั้นร่วงมากที่สุด 3.75 บาท ราคามาปิดที่ 49.50 บาทต่อหุ้น รองลงมาคือบางจาก หรือ BCP ปิดที่ 29.25 บาทต่อหุ้น ลดลง 3 บาทต่อหุ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า มีการประเมินฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า ภายในเดือน มิ.ย.นี้ จะติดลบทะลุ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ มากกว่าทุกรัฐบาล โดยรัฐบาลทักษิณนั้นทำตัวเลขติดลบสูงสุดที่ประมาณ 92,000 ล้านบาท ซึ่งสุดท้ายก็ต้องใช้วิธีทยอยเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันชำระคืนหนี้ให้กองทุนพร้อมดอกเบี้ย ในช่วงที่ราคาน้ำมันขาลง

โดยฐานะกองทุนน้ำมันในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่ติดลบสูงสุดและจะยังคงทำสถิติติดลบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆเนื่องจาก ณ วันที่ 17 มิ.ย. 65 ยังคงมีภาระชดเชยราคาดีเซลอยู่ถึงลิตรละ 10.92 บาท และชดเชยLPG อยู่กิโลกรัมละ 13.86 บาทนั้น ยังไม่มีสถาบันการเงินใดปล่อยกู้ให้ เนื่องจากรัฐไม่สามารถเข้าไปค้ำประกันหนี้ให้ได้

Advertisment