ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี​ ชนะเลิศ​อันดับ​ 1 แข่งประกวดโครงงาน​ 5MSPP 2023​ ที่จัดโดย​ IEEE PES – Thailand

- Advertisment-

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี​ ชนะเลิศอันดับ 1​ การแข่งขันโครงงานด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและพลังงาน​ ระดับปริญญา​ตรี​ หรือ​ 5-Minute Student Project Pitch competition (5MSPP 2023) ที่จัดโดย​ สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) (IEEE PES – Thailand) 

โดยโครงการ “IEEE PES 5-Minute Student Project Pitch competition (5MSPP 2023)” จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์และพัฒนาทักษะการสื่อสารความคิดด้วยคำพูดและสื่อการนำเสนออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบที่ชัดเจน กระชับและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากทักษะการสื่อสารเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับนิสิต นักศึกษาและวิศวกรในศตวรรษที่ 21 นี้

คณะกรรมการตัดสินทั้งรอบสองและรอบสุดท้าย

- Advertisment -

ซึ่งการแข่งขันรอบสุดท้ายมีขึ้นเมื่อวันที่​ 25​ เม.ย.​ 2566​ ณ ห้องประชุมชั้น 12A อาคารวัฒนวิภาส อาคารบี การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ​ โดยคณะกรรมการตัดสินโครงงานรอบสุดท้าย​ประกอบด้วย​ ดร.ฐิติพร​ สังข์เพชร​ หัวหน้ากองวางแผนการเชื่อมต่อและความร่วมมือระบบไฟฟ้า​ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย​ (กฟผ.)​ คุณมนัส​ ​อรุณวัฒนาพร​ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม​ระบบไฟฟ้า​ การไฟฟ้านครหลวง ​คุณจรัล ตั้งวงศ์ชูเกต ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบไฟฟ้า​ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค​ คุณเบญญาภรณ์ จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.​ จำกัด​ (มหาชน)​ และ​ คุณญาดา​ วิเศษรัตน์​ รองประธานกลุ่มธุรกิจระบบไฟฟ้ากำลัง​ บริษัท ชไนเดอร์​ อิเล็กทริค​ ไทยแลนด์

การแข่งขันในปี พ.ศ. 2566 นี้ มีทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 5 ทีม​ จากที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 20 ทีม ได้แก่ 1. ทีม Transparent Photovoltaic จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  2​. ทีม Approve จากมหาวิทยาลัยนเรศวร  3.​ ​ทีม KD01 จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  4​. ทีม EE-TU จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 5​. ทีม กลุ่มมิเตอร์วัดพลังงาน จากมหาวิทยาลัยนเรศวร

 ซึ่งผลการตัดสินของ​คณะกรรมการได้พิจารณาให้ทีม
Transparent Photovoltaic จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ประกอบด้วย นายพัชรพล แก้วเนิน และนายศุภวิชญ์ บูรณะเศรณี ซึ่งนำเสนอเรื่อง Transparent Photovoltaics โดยมี ดร.ชาญชัย เตชะวัชราภัยกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เป็นทีมที่ชนะเลิศอันดับ​ 1​ คว้ารางวัลเงินสด 20,000 บาทพร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร     

 

 Transparent Photovoltaic จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี​ รับรางวัลชนะเลิศ​อันดับ1

 โครงงานที่ชนะเลิศ​ ได้นำเสนอการพัฒนาโซลาร์เซลล์แบบโปร่งใสที่มีคุณสมบัติการดูดกลืนแสง เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งแทนการใช้โซลาร์เซลล์ที่ทำจากซิลิกอน  โดยศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของโซลาร์เซลล์แบบโปร่งใส ได้แก่ วัสดุ ความยาวคลื่น และรูปทรงเรขาคณิต ผ่านการทดลองต่างๆ  ซึ่งผลการทดลองเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าโซลาร์เซลล์แบบโปร่งใสมีศักยภาพที่จะเป็นทางเลือกในอนาคต เนื่องจากประสิทธิภาพที่สูงของมัน

ทีม​ Transparent Photovoltaic จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ทีม Approve จากมหาวิทยาลัยนเรศวร
ทีม Approve จากมหาวิทยาลัยนเรศวร​ รับรางวัล​รองชนะเลิศ​อันดับ1

ส่วนทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Approve จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ประกอบด้วย นายนันทิพัฒน์ จันพฤกษ์ และนายกอบวริทธิ์ สิงหเดช ซึ่งนำเสนอเรื่อง ระบบวิเคราะห์พลังงานจากโซลาร์เซลล์ติดตามดวงอาทิตย์ด้วยหลักการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงโปรแกรม โดยมี ดร.จิรวดี ผลประเสริฐ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา คว้าเงินสด 15,000 บาทพร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร

 โครงงานนี้เสนอการนำระบบโซลาร์เซลล์ติดตามดวงอาทิตย์มาต่อยอด โดยใช้การแสดงผลแบบเรียลไทม์ด้วยโปรแกรม Power BI  และการสร้างโมเดลความสัมพันธ์ของข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากระบบโซลาร์เซลล์ติดตามดวงอาทิตย์ เช่น ค่าปริมาณแสง กำลังไฟฟ้า กระแสไฟฟ้า และแรงดันไฟฟ้าที่แผงโซลาร์เซลล์ผลิตได้  นอกจากนี้ยังรวมการพยากรณ์แนวโน้มการผลิตไฟฟ้าจากระบบโซลาร์เซลล์ติดตามดวงอาทิตย์ล่วงหน้า 7 วัน ด้วยการวิเคราะห์การถดถอย

ทีม EE-TU จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

สำหรับรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม EE-TU จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย นายจักริน ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา และนางสาวธารทิพย์ ปัญญาใส ซึ่งนำเสนอเรื่อง การประมาณความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับ EV จากข้อมูลการเดินทาง โดยมี ผศ.ดร.ศุภชัย วรพจน์พิศุทธิ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา คว้าเงินสด 10,000 บาทพร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร

 โครงงานนี้นำเสนอวิธีการพยากรณ์การใช้พลังงานไฟฟ้าของกลุ่มเครื่องอัดประจุภายในพื้นที่ที่พักอาศัย โดยศึกษาพฤติกรรมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในช่วงวันทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ จากการสืบค้น Google Maps ร่วมกับการใช้ข้อมูลสภาพแวดล้อมจากกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งข้อมูลทั้งสองส่วนจะถูกป้อนเข้าแบบจำลองการเรียนรู้ของเครื่องจักร  โครงงานนี้ได้สร้างแบบจำลองจากข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าในระบบขับเคลื่อนและระบบปรับอากาศที่จำลองด้วยโปรแกรม Automotive Simulation Model (ASM) ของ dSpace  โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการพยากรณ์จะช่วยให้สามารถคาดการณ์ภาระของหม้อแปลงจำหน่ายที่มีโหลดเป็นเครื่องอัดประจุรถยนต์ไฟฟ้า

ส่วนรางวัลชมเชยมี 2 ทีม ได้แก่ ทีม KD01 จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประกอบด้วย นายกฤษดา สุกขันต์ และนายปณิธาน สอนอาจ โดยมี ผศ.ดร.คมสันติ์ ดาโรจน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งนำเสนอเรื่อง การออกแบบและประเมินระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์โดยใช้ข้อมูลโหลดจากมิเตอร์ TOU และทีม กลุ่มมิเตอร์วัดพลังงาน จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ประกอบด้วย นายธนบดี ชัยกิจไทย และนางสาววราพร สุขสำราญ โดยมี ผศ.ดร.ปิยดนัย ภาชนะพรรณ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งนำเสนอเรื่อง กลุ่มมิเตอร์วัดพลังงานที่ส่งข้อมูลแบบไร้สายผ่าน NB-IoT ไปยังระบบคลาวด์เซิฟเวอร์ โดยแต่ละทีมได้รับเงินสด 5,000 บาทพร้อมประกาศนียบัตร

Advertisment

- Advertisment -.