มอบกฟผ.ผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชนต้นแบบแห่งแรกที่แม่แจ่ม

- Advertisment-

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมอบ กฟผ.เป็นหลักในการลงทุนร่วมกับชุมชน สร้างโรงไฟฟ้าชุมชนต้นแบบ จำนวน 2 โรง โรงละ 1 เมกะวัตต์ในอำเภอแม่แจ่ม หลังลงพื้นที่รับฟังความเห็นตัวแทนชุมชนและพบว่ามีศักยภาพเชื้อเพลิงที่จะส่งป้อนโรงไฟฟ้าได้เพียงพอ ย้ำเป้าหมายโครงการจะต้องตอบโจทย์คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในชุมชนแม่แจ่ม

วันนี้ (23 ตุลาคม 2562) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และผู้บริหาร กฟผ. นำโดยนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เยี่ยมชมพื้นที่เป้าหมายที่ชุมชนเสนอให้เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าชุมชน และโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งจากซังข้าวโพด ของสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม จำกัด

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้มอบให้ทาง กฟผ.เป็นผู้ลงทุนร่วมกับชุมชน ผลักดัน “แม่แจ่มโมเดล” ซึ่งจะเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนต้นแบบแห่งแรก ตามนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนของกระทรวงพลังงาน ที่ใช้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร คือซังข้าวโพด เป็นเชื้อเพลิงหลัก

- Advertisment -

ทั้งนี้อำเภอแม่แจ่ม มีซังข้าวโพดและเศษวัสดุจากต้นข้าวโพดปีละ 90,000 ตัน ซึ่งเพียงพอที่จะป้อนเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชุมชน ขนาดโรงละ 1 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โรง โดยได้รับรายงานว่า ที่ผ่านมามีการเผาทิ้งซังข้าวโพดและเศษวัสดุจากต้นข้าวโพดในพื้นที่เพาะปลูก ปีละกว่า 40,000ตัน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5  และหากมีการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน ควบคู่ไปกับการนำศาสตร์พระราชา เรื่องโคก-หนอง-นา มาใช้ ได้สำเร็จ เชื่อว่าจะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในอ.แม่แจ่ม และแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ  รวมทั้งการบุกรุกพื้นที่ป่าได้

สำหรับ พื้นที่เป้าหมายที่ถูกเสนอให้เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าชุมชน 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านบนนา ตำบลช่างเคิ่ง และบ้านแม่นาจร ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มีความสนใจ
โดยในการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนดังกล่าว ได้ให้เป็นนโยบายว่า กฟผ.จะต้องเป็นผู้ออกเงินลงทุนแทนสัดส่วนของชุมชนที่จะถือหุ้นประมาณ 20%ไปก่อน ซึ่งเมื่อโรงไฟฟ้าเดินเครื่องและขายไฟฟ้าได้ มีกำไรและมีการจ่ายเงินปันผล  ชุมชนที่ร่วมถือหุ้น จึงค่อยนำเงินปันผลที่ได้มาทยอยจ่ายคืน กฟผ.

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า หลังการทำสัญญาประชาคมระหว่างชุมชนในอ.แม่แจ่มกับกฟผ.คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ10เดือน ในการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนแห่งแรก  โดยแนวทางของกระทรวงพลังงาน ได้เน้นย้ำว่า โรงไฟฟ้าชุมชน จะต้องสร้างประโยชน์อย่างแท้จริงให้กับคนในชุมชน

ณัณฐณัชช์ เกิดใหม่ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอแม่แจ่ม

ด้านนายณัณฐณัชช์ เกิดใหม่ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอแม่แจ่ม เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจากเศษวัสดุทางการเกษตรเป็นโครงการที่คนในชุมชนแม่แจ่มอยากให้เกิดขึ้น เนื่องจากหลายหมู่บ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้ หากสามารถนำซังข้าวโพดมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้ถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้า มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ทั้งนี้มั่นใจว่า แม่แจ่มเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถจัดหาเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าชุมชนได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันในพื้นที่มีปริมาณซังข้าวโพด ลำต้น และเปลือกข้าวโพดปีละหลายหมื่นตัน ไม่นับรวมแกลบ ฟางข้าว และขยะจากครัวเรือนที่ยังสามารถนำมาใช้ได้ จึงมั่นใจว่าโรงไฟฟ้าชุมชนจะสร้างประโยชน์ สร้างอาชีพให้กับคนแม่แจ่มอย่างแน่นอน

ข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวที่มีการปลูกกันมากในพื้นที่อ.แม่แจ่ม กว่า1แสนไร่
Advertisment

- Advertisment -.