มติ กพช. ปลุกกระแสตื่นตัวโรงไฟฟ้าชุมชน

- Advertisment-

เผยผลพวงจากมติ กพช. ปลุกกระแสความสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน ที่มีการประเมินว่าจะมีเม็ดเงินลงไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากกว่า 7 หมื่นล้านบาท คาดออกประกาศระเบียบรับซื้อไฟฟ้าได้ในช่วงต้นปี 2563

ภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา เห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) และราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ก็สร้างกระแสความตื่นตัวให้กับภาคเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าและคนในชุมชน โดยตัวแทนจากหลายชุมชนได้เดินทางเข้ามาแสดงความขอบคุณนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงที่ศูนย์เอ็นเนอยีคอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งกระทรวงพลังงาน ในฐานะที่เป็นผู้ผลักดันนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนดังกล่าวให้ กพช. พิจารณา โดยขั้นตอนต่อไปคือการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะนำมติ กพช. ดังกล่าวไปจัดทำรายละเอียดในระเบียบหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้า เพื่อออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนและชุมชนที่สนใจยื่นเสนอโครงการเข้ามา เพื่อให้คณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าฯ ที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน พิจารณาอนุมัติ

โดยรายละเอียดสำคัญของโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากตามมติ กพช. นั้น จะเป็นโรงไฟฟ้าในรูปแบบสัญญาประเภท Non-Firm คือจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามที่มีความพร้อม โดยห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วงเริ่มต้นเดินเครื่อง ทั้งนี้ มีการแบ่งโรงไฟฟ้าชุมชนออกเป็น 4 ประเภทเชื้อเพลิง และกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่จูงใจการลงทุน คือ

- Advertisment -

1. ชีวมวล กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ 4.8482 บาท ต่อหน่วย สำหรับโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่า หรือเท่ากับ 3 เมกะวัตต์ ส่วนที่มีกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัต์ กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ 4.2636 บาท ต่อหน่วย

2.ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย/ของเสีย กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ 3.76 บาท ต่อหน่วย

3.ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน อาทิหญ้าเนเปียร์ กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ 5.3725 บาทต่อหน่วย

4.ผสมผสานเชื้อเพลิงหรือ Hybrid หากเป็น ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานผสมน้ำเสีย/ของเสีย อัตรารับซื้ออยู่ที่ 4.7269 บาทต่อหน่วย หากมีการผลิตไฟฟ้าโดยผสมผสานกับ พลังงานแสงอาทิตย์ จะแยกอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ออกมา โดยให้อัตรา 2.90 บาทต่อหน่วย และสำหรับโรงไฟฟ้าชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พิเศษคือในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา จะได้ส่วนเพิ่มบวกเข้าไปอีก 0.50 บาทต่อหน่วยในทุกชนิดเชื้อเพลิง

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

อย่างไรก็ตามมีการกำหนดเงื่อนไขสำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน คือ ต้องประกอบด้วยภาคเอกชน ที่อาจจะเป็นเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าร่วมทุนกับองค์กรของรัฐ จะถือหุ้นในสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 – 90 และโดยร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน (มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล จะถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 10 – 40 (โดยเป็นหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีกรวมแล้วไม่เกินร้อยละ 40)

โดยผู้เสนอโครงการต้องมีแผนการจัดหาเชื้อเพลิง โดยมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชนในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญา (Contract farming) ซึ่งในสัญญาจะต้องมีการระบุข้อมูลปริมาณการรับซื้อเชื้อเพลิง ระยะเวลาการรับซื้อเชื้อเพลิง คุณสมบัติของเชื้อเพลิง และราคารับซื้อเชื้อเพลิงไว้ในสัญญาด้วย

ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการ เมื่อมีรายได้จากการขายไฟฟ้า จะต้องแบ่งรายได้โดยที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ให้กับกองทุนหมู่บ้านที่อยู่ใน “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” ของโรงไฟฟ้านั้น ๆ โดยโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) จะต้องแบ่งไม่ต่ำกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าที่มีการผสมผสานกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จะต้องแบ่งรายได้ไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งจะมีขนาดกำลังการผลิตแต่ละโรงไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ กำหนดเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าทั้งหมดรวม 700 เมกะวัตต์ โดยมีการประเมินตัวเลขการลงทุนว่า ในกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ จะใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท ดังนั้น หากมีการลงทุนโรงไฟฟ้าได้ตามเป้า ก็จะมีเม็ดเงินลงทุนที่กระจายลงไปในแต่ละชุมชน รวมประมาณ 7 หมื่นล้านบาท

กระทรวงพลังงานคาดว่าจะเริ่มประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนได้ในช่วงต้นปี 2563 เป็นต้นไป โดยคณะกรรมการจะพิจารณาในส่วน โครงการเร่งด่วน หรือ Quick win ที่เป็นโครงการที่เกิดจากนโยบายการส่งเสริมของรัฐก่อนหน้านี้ ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จ แต่ยังไม่สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบ ให้เข้าร่วมโครงการได้ก่อน จากนั้นจึงจะเปิดพิจารณาโครงการทั่วไปที่อนุญาตให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 เป็นต้นไป

สำหรับเกณฑ์การพิจารณาโครงการจะเรียงลำดับจากผู้ที่เสนอผลประโยชน์ให้ชุมชนสูงที่สุดไปถึงต่ำสุด และผู้ที่เสนอผลประโยชน์สูงสุดจะได้รับการพิจารณาให้ลงทุนเป็นลำดับแรก

นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจอยากร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ว่า ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มีความพร้อมด้านเงินลงทุนและเทคโนโลยี จะต้องคัดเลือกชุมชนที่มีความพร้อมในศักยภาพของเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็น ชีวมวล เช่นไผ่ ไม้โตเร็ว หรือไม้สับอื่นๆ โดยจะต้องเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าที่พร้อมรองรับ จากนั้นก็ยื่นเสนอโครงการมาให้คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งให้หลักประกันได้ว่า คณะกรรมการพิจารณาเป็นคนที่มีความรู้ และมีเกณฑ์ที่ชัดเจนในการพิจารณาอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ซึ่งเป้าหมายของกระทรวงพลังงานในการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน ก็เพื่อต้องการให้เอกชนที่มีความตั้งใจจริงที่จะลงทุนทำโรงไฟฟ้ามีส่วนในการเข้าไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ให้คนในชุมชน ทั้งในส่วนของรายได้จากการขายวัตถุดิบป้อนโรงไฟฟ้า รายได้จากเงินปันผลที่เข้าไปร่วมถือหุ้น และรายได้จากส่วนแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้า

Advertisment

- Advertisment -.