พลังงาน จ่อชง ครม.พรุ่งนี้ ขยายมาตรการลดภาษีดีเซล-ลดค่าไฟฟ้าประชาชน

- Advertisment-

รัฐมนตรีพลังงาน เตรียมชง ครม. 13 ก.ย. 2565  ขยายมาตรการต่ออายุการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล พร้อมให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแบบขั้นบันไดสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 301-500 หน่วย ระบุกันงบกลางปี 2565-2566 เพื่อบรรเทาผลกระทบราคาพลังงานแพงไว้แล้ว พร้อมแนะภาคอุตสาหกรรมเร่งแผนประหยัด ลดต้นทุนการผลิต รักษาระดับการแข่งขัน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนาและปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไทย ต่อวิกฤตพลังงานโลก” ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2022 ว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันที่ 13 ก.ย.2565 กระทรวงพลังงาน จะเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงาน ทั้งการขยายระยะเวลาปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลต่อ จากปัจจุบันที่ปรับลดลง 5 บาทต่อลิตรซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 ก.ย. 2565 นี้ แต่จะขยายระยะเวลาออกไปเท่าไหร่และปรับลดลงกี่บาทนั้น ยังต้องรอความชัดเจนจากทางกระทรวงการคลังก่อน 

ส่วนมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าโดยให้ส่วนลดเป็นแบบขั้นบันได สำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้า 301-500 หน่วย เป็นระยะเวลา 4 เดือน (ก.ย.-ธ.ค.65) วงเงินประมาณ 9,000 ล้านบาทนั้น จะเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติ โดยได้จัดเตรียมวงเงินซึ่งจะเป็นในส่วนของงบกลางปี 2565และ งบกลางปี 2566 ไว้รองรับแล้ว

- Advertisment -

ขณะที่มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดนั้น กระทรวงพลังงานได้เตรียมพร้อมที่จะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(PDP) ฉบับใหม่ที่จะแล้วเสร็จในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 นี้ ซึ่งทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดต่างๆ เพื่อรองรับการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าในช่วงปลายปี 2565 นี้ 

อีกทั้งในส่วนของมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่สั่งการให้เร่งรัดเรื่องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อให้ภาคประชาชนประหยัดการใช้ไฟฟ้านั้น กระทรวงพลังงาน ได้เร่งหารือกับ กกพ. และ 3 การไฟฟ้า เพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว และดูการปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อเอื้อให้เกิดการติดตั้งได้ง่ายขึ้น รวมถึงจะต้องดูในเรื่องของมาตรการทางภาษีและสิทธิประโยชน์ BOI เข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการเพิ่มเติมด้วย

นอกจากนี้กระทรวงพลังงานยังได้ติดตามสถานการณ์พลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อบริหารจัดการราคาพลังงานที่ผันผวนทั้งจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน นโยบายลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกและโอเปกพลัส และ ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาราคาพลังงานที่สูงขึ้น ด้วยการประคับประคองราคาไม่ให้ปรับสูงขึ้นจนเกินไป ทั้งน้ำมันดีเซลที่ได้พยุงราคาให้อยู่ในระดับไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร โดยใช้การอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้วกว่า 120,000 ล้านบาท รวมทั้งการลดภาษีสรรพสามิตเป็นการชั่วคราว 

ด้านอัตราค่าไฟฟ้าได้บริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยหันมาใช้เชื้อเพลิงที่มีต้นทุนถูกมาผลิตไฟฟ้าทดแทนในช่วงที่ราคาก๊าซธรรมชาติปรับสูงขึ้นมาก เพื่อดูแลค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) ไม่ให้ปรับขึ้นจนเกินไป รวมถึงที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ยังได้เข้ามาร่วมแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิง เพื่อชะลอการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงเกินไป เป็นภาระแล้วประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาท ส่งผลให้ที่ผ่านมารัฐบาลใช้เงินประคับประคองราคาพลังงานไปแล้วรวมกว่า 200,000 กว่าล้านบาท 

ดังนั้น จะเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ประคับประคองต้นทุนราคาพลังงานเพื่อลดผลกระทบในภาพรวมของเศรษฐกิจแล้ว ฉะนั้นมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ภาคอุตสาหกรรมไทย จะต้องให้ความสำคัญกับมาตรการประหยัดพลังงาน เพื่อลดต้นทุนการผลิต พร้อมยกระดับประสิทธิภาพการผลิต และเลือกใช้นวัตกรรมที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงต้องร่วมมือกับภาครัฐในการประหยัดการใช้พลังงานให้บรรลุเป้าหมาย 20% ในปี 2565 นี้ ซึ่งการประหยัดพลังงานที่ลดลงก็เท่ากับเป็นการช่วยลดภาระการจ่ายค่าไฟฟ้าให้ถูกลงด้วย

Advertisment

- Advertisment -.