พลังงานหมุนเวียนที่รัฐส่งเสริม มีต้นทุนที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องช่วยจ่าย กว่า 2.6 หมื่นล้านในเดือน ก.ย.-ธ.ค.64

- Advertisment-

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดข้อมูลให้เห็นว่าผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องช่วยจ่ายเงินอุดหนุนพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายรัฐ ที่บวกรวมอยู่ในค่าไฟฟ้า ประมาณ 45.43 สตางค์ต่อหน่วยคิดเป็นเงินประมาณ 26,586 ล้านบาทเฉพาะในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2564 และยังมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นอีกเนื่องจากจะยังมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบเพิ่มเติมอีกในปีนี้ ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ และโซลาร์เซลล์กลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาลและสูบน้ำเพื่อการเกษตร

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คาดว่าการอุดหนุนพลังงานทดแทนตามนโยบายรัฐในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2564 ซึ่งรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่าย จะอยู่ที่ 31.13 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 18,302 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2564 ที่กระทบค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 33.28 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อคูณจำนวนหน่วยที่ใช้จะคิดเป็นวงเงิน 19,934 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามการอุดหนุนพลังงานทดแทนของภาครัฐถูกรวมอยู่ในค่าไฟฟ้า ทั้งในส่วนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ซึ่งในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2564 อุดหนุนอยู่ที่ 31.13 สตางค์ต่อหน่วยดังกล่าว และอยู่ในค่าไฟฟ้าฐานอีก 14.30 สตางค์ต่อหน่วย (คำนวณไว้เมื่อปี 2558 รวมเป็นเงิน 8,284 ล้านบาท)

- Advertisment -

ส่งผลให้เดือน ก.ย.-ธ.ค. 2564 นี้ มีต้นทุนการอุดหนุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายรวม 45.43 สตางค์ต่อหน่วย ( คิดเป็นเงินประมาณ 26,586 ล้านบาท )​ จากค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ย 3.61 บาทต่อหน่วย

อย่างไรก็ตามตัวเลขการอุดหนุนพลังงานหมุนเวียนที่มีแนวโน้มลดลงจากช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.2564 เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบน้อยลง รวมทั้งความผันผวนของสภาพอากาศทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่เสถียรและลดลง ประกอบกับโครงการเดิมที่ได้รับเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder)ในอัตราสูง ก็เริ่มทยอยหมดอายุลง

สำหรับแนวโน้มในปี 2564-2565 นี้จะมีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทยอยเข้าระบบมาอีก ที่สำคัญคือโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 150 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาลและสูบน้ำเพื่อการเกษตร(โครงการนำร่อง) จำนวน 50 เมกะวัตต์ กำหนดผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 31 ธ.ค. 2564 ซึ่งเชื่อว่าทั้งสองโครงการจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายไม่มากนัก เพราะภาครัฐได้พิจารณาผลกระทบมาอย่างรอบคอบแล้ว

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC) รายงานว่า ก่อนหน้านี้ กกพ. ได้ชี้แจงว่าทั้งปี 2563 ภาพรวมการสนับสนุนพลังงานทดแทนด้วยระบบ Adder และการสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าประชาชนโดยรวม 30.18 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นเงินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องช่วยอุดหนุนรวม 52,166 ล้านบาท

สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ได้รับเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในอัตราที่สูงถึง 8 บาทต่อหน่วย ที่มีสัญญาระยะ 10 ปี นั้น โดยกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับ Adder ซึ่งมีการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2557 ที่ผ่านมา จะหมดอายุสัญญาในปี 2567 และจะช่วยให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนลดลงได้อีก

Advertisment