พลังงานยุค”สนธิรัตน์”จัดเต็มซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกว่า3,000เมกะวัตต์ใน5ปี

- Advertisment-

กระทรวงพลังงานยุค”สนธิรัตน์”จัดเต็มรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบในช่วง5ปี (2563-2567) รวมกว่า 3,042เมกะวัตต์ โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 1,933 เมกะวัตต์ พลังงานลม 270 เมกะวัตต์ และโซลาร์เซลล์250เมกะวัตต์ และขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ โดยบรรจุไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP2018) และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับปรับปรุงครั้งที่1 (PDP2018 Rev.1)

เมื่อวันที่18ก.พ.2563 ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) ฉบับใหม่ พ.ศ. 2561-2580 ซึ่งประกอบด้วยแผนPDP2018 Rev.1 แผนAEDP2018 แผนอนุรักษ์พลังงาน หรือ  EEP2018  และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หรือGas Plan 2018 ยกเว้นแผนน้ำมันหรือ Oil Plan 2018 ที่ยังจัดทำไม่แล้วเสร็จ ณ ห้องวอเตอร์เกทบอลรูม โรงแรมอมารี วอร์เตอร์เกท กรุงเทพฯ โดยมี
นายกุลิศ  สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ท่ามกลางบุคคลในแวดวงพลังงานที่ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า ประเด็นที่น่าสนใจของการปรับปรุงแผนAEDP2018 ซึ่งสอดคล้องกับ PDP2018 Rev.1 ตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คือการเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในช่วง5ปีข้างหน้า ตั้งแต่ปี2563 ถึง2567 รวมกว่า 3,042เมกะวัตต์ ซึ่งแตกต่าง อย่างสิ้นเชิงไปจากPDP2018 ในยุคนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นรัฐมนตรีพลังงาน ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนไปเมื่อวันที่ 30 เม.ย 2562  โดยนโยบายในช่วงนั้น ไม่ส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในช่วง5ปี ( ยกเว้นไฟฟ้าจากขยะชุมชน และชีวมวล 3จังหวัดชายแดนใต้) หากราคาค่าไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า2.44บาทต่อหน่วย

- Advertisment -
ในช่วง5ปีข้างหน้า(2563-2567) จะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนถึง3พันเมกะวัตต์

โดยการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวมกว่า 3,042เมกะวัตต์ในแผนAEDPใหม่ที่สอดคล้องกับPDP2018 Rev.1  ภายใน5ปีข้างหน้านั้น แยกเป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กว่า 1,933เมกะวัตต์  แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าชุมชน ไฮบริด ร่วมกับโซลาร์เซลล์ 550เมกะวัตต์   จากก๊าซชีวภาพ ที่มาจากพืชพลังงานคือหญ้าเนเปียร์ จำนวน600เมกะวัตต์  ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย 183เมกะวัตต์  จากชีวมวล 600เมกะวัตต์     ซึ่งเฉพาะช่วงปี 2563 ปีเดียวจะรับซื้อรวม 700เมกะวัตต์

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ถูกเร่งรับซื้อให้เร็วขึ้น 270เมกะวัตต์ ในช่วง3ปี ตั้งแต่2565-2567

นอกจากนี้ ยังมีไฟฟ้าจากพลังงานลม รวม 270เมกะวัตต์ ที่จะเข้าระบบตั้งแต่ปี 2565 จำนวน90เมกะวัตต์ 2566 อีก 90เมกะวัตต์ และปี2567อีก 90เมกะวัตต์  จากแผนเดิมที่จะเข้าระบบปี2577

การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์บนทุ่นลอยน้ำ จำนวน69เมกะวัตต์  และจากโซลาร์ภาคประชาชน รวมจำนวน 250เมกะวัตต์ โดยตั้งแต่ปี 2563-2567จะเข้าระบบปีละ50เมกะวัตต์   การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน จำนวน400เมกะวัตต์ ซึ่งจะเข้าระบบในปี 2565ทั้งหมด   และ จากโครงการชีวมวลประชารัฐ จำนวน120เมกะวัตต์ โดยจะเข้าระบบปี 2565 จำนวน60เมกะวัตต์ และปี2566อีก 60 เมกะวัตต์

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จำนวน1,933เมกะวัตต์ โดยรัฐให้การอุดหนุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ในรูป Feed in Tariff หรือ FiT นั้น ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยทั้งแผน สูงขึ้นจากแผนเดิม ประมาณ 7สตางค์ต่อ หน่วย

กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา

นายกุลิศ  สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กล่าวว่า หลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ในส่วนของโครงการQuick Win จะจัดทำแล้วเสร็จภายในเดือนก.พ.นี้ จากนั้นจะนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณาและจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น และออกประกาศทีโออาร์ ให้ผู้ที่สนใจ ยื่นข้อเสนอเข้ามา ประมาณเดือนมี.ค-เม.ย.  และน่าจะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้สิทธิ์เสนอขายไฟฟ้า ได้ ในเดือน พ.ค.-มิ.ย โดยจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ทั้งหมดภายในปี 2563นี้

ในส่วนของการส่งเสริมไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่กระทบต่อค่าไฟฟ้าเฉลี่ยโดยรวมประมาณ 7สตางค์ต่อหน่วยนั้น  กระทรวงพลังงานจะบริหารเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าหลักให้มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดทั้ง แอลเอ็นจี  พลังน้ำจากสปป.ลาว  เพื่อให้มาช่วยลดผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น  อย่างไรก็ตามวัตถุประสงค์สำคัญของการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน เพราะต้องการเข้าไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้น

ด้านศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเข้าร่วมรับฟังในงานสัมมนาครั้งนี้ กล่าวว่า  การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นนั้นกระทรวงพลังงานจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อช่วยให้คนในชุมชนได้รับประโยชน์จากโครงการอย่างแท้จริง โดยอย่าลืมว่าประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้ที่ต้องช่วยกันแบกรับภาระ

สำหรับในส่วนของการเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมให้เร็วขึ้น นั้น ส่วนตัวเห็นด้วย เพราะเทคโนโลยีกังหันลมพัฒนาไปเร็วมากและมีต้นทุนที่ต่ำลง  จนสามารถที่จะรองรับศักยภาพลมที่ไม่แรงมากในประเทศไทย มาใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้าได้

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในกระทรวงพลังงานที่เข้าร่วมการสัมมนา ให้ความเห็นแย้ง กับศ.ดร.พรายพล ว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในส่วนของพลังงานลม นั้นรัฐควรจะเปิดให้มีการประมูลแข่งขันระหว่าง พลังงานลม กับพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อที่จะส่งเสริมให้ค่าไฟฟ้าต่ำที่สุด ไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวมมากเกินไป

ด้านนายกวิน ทังสุพานิช  กรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ซึ่งเข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ กล่าวว่า แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB)ที่มีการปรับแผนหลักด้านพลังงานในมิติต่างๆ ให้สอดคล้องกันนั้น ควรจะต้องนำข้อเสนอของกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ที่ได้จัดทำเอาไว้ มาปรับรวมด้วย เพราะมีเนื้อหาของการวางโครงสร้างพื้นฐานพลังงาน  การเปิดเสรีการแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้า ที่เกี่ยวข้องกับแผนTIEB ทั้งหมด  แต่เท่าที่รับฟังการสัมมนา ตัวแทนของกระทรวงพลังงาน ยังไม่ได้กล่าวถึงข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานเลย

Advertisment

- Advertisment -.