- Advertisment-

กระทรวงพลังงานจับมือ 2 บริษัทชั้นนำจากสิงคโปร์ จัด 3 งานพลังงานยิ่งใหญ่แห่งปีในไทย “SETA 2022, Solar+Storage Asia 2022 และ Enlit Asia 2022 ” ระหว่าง 20-22 ก.ย. 2565 ที่ศูนย์ฯไบเทค บางนา พร้อมเตรียมประกาศแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ภายในงาน และร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น ประสบการณ์ ทิศทางพลังงานโลก พร้อมเสวนาด้านพลังงานทดแทน คาดวงการพลังงานแห่ร่วมงานกว่า 10,000 คน จาก 350 บริษัท

วันที่ 24 ส.ค. 2565 กระทรวงพลังงาน ร่วมกับบริษัท แกท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท แคริออน อีเวนท์ จำกัด ประเทศสิงคโปร์ ประกาศจัดนิทรรศการและประชุมนานาชาติพร้อมกัน 3 งาน ระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย. 2565 ได้แก่ 1. งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีทางด้านพลังงานและงานประชุมระดับผู้นำแห่งเอเชีย “งานพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย” (Sustainable Energy Technology Asia- SETA 2022)  2. งานเทคโนโลยีด้านพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บประจุของเอเชีย (Solar+Storage Asia-SSA 2022) และ 3. งาน Enlit Asia 2022 งานด้านผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าและระบบกริดระดับโลก ณ ศูนย์ฯไบเทค บางนา

นอกจากนี้ภายในงานจะมีการจัดเวทีเสวนาพิเศษ “แผนพลังงานไทยเพื่อมุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์กับการขับเคลื่อนระบบการผลิตไฟฟ้าและการใช้กระแสไฟฟ้าของไทย” โดยผู้บริหารจากกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สมาคมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (อาร์อี 100) และ สมาคมอุตสาหกรรมพลังแสงอาทิตย์ไทย (TPVA)

- Advertisment -

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้สนับสนุนการจัดงาน SETA มาอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 7 ซึ่งการจัดงานในปี 2565 นี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนประเทศหลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับทิศทางพลังงานโลก รวมทั้งทิศทางพลังงานของไทยหลังจากที่ไทยได้ลงนามภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP 26 

นอกจากนี้กระทรวงพลังงานจะเปิดเผยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ หรือ PDP ฉบับล่าสุด เป็นครั้งแรกภายในงาน ซึ่งจะมีการอภิปรายถึงยุทธศาสตร์ของภาครัฐ ทั้งในด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศไทยและความคาดหวังที่จะบรรลุเป้าหมายในด้านการพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ๆ เช่น พลังงานไฮโดรเจน เป็นต้น

การจัดงาน “SETA 2022,  Solar+Storage Asia 2022 และ Enlit Asia 2022 ” ในครั้งนี้ จัดภายใต้หัวข้อหลัก “Accelerating ASEAN’s Energy Transition to Achieve Carbon Neutrality” เพื่อให้สอดคล้องและสนับสนุนนโยบายด้านพลังงานและเศรษฐกิจของรัฐบาล ตามการประกาศเจตนารมณ์ในเวทีการประชุม COP26 โดยประเทศไทยได้เตรียมพร้อมตอบรับในการจัดทำแผนพลังงานฉบับใหม่ มุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ให้มีการเร่งการเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานจากแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของประเทศ โดยทั้ง 3 งาน มุ่งสร้างเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในด้านนวัตกรรมพลังงาน และสร้างความแข็งแกร่งและการขยายฐานการตลาดในกลุ่มพลังงาน โดยปี 2565 นี้จะมุ่งเน้นเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เทคโนโลยีสะอาด  

สำหรับหัวข้อต่าง ๆ ที่จะมีการอภิปรายบนเวที SETA 2022, Enlit Asia 2022 และ Solar+Storage Asia 2022 ตลอดระยะเวลาการจัดงานทั้ง 3 วัน จะเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับแผน PDP ฉบับใหม่ ทั้งสิ้น โดยมีเนื้อหาสำคัญ 6 ประเด็น ประกอบด้วย (1) การผลิตไฟฟ้าแบบปลอดคาร์บอน (Decarbonised Power Generation) (2) การเสริมความแข็งแกร่งและสร้างโครงข่ายระบบไฟฟ้าในอนาคต (Fortifying and Creating a Next-Gen Power Grid) (3) การพัฒนาระบบไฟฟ้าในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (The Electrification of The ASEAN Economy) (4) ความผันผวนของราคาไฟฟ้าจากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด (Electricity Prices Surging due to unexpected Circumstances) (5) การผลักดันพลังงานหมุนเวียนให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ (Enabling Renewable Energy to meet RE Targets) และ (6) แผนกลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (The Roadmap to Net-Zero)

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึง หัวข้อ “แผนพลังงานไทยและเส้นทางการมุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” โดยระบุว่า กฟผ.ได้จัดเตรียมแผนการลงทุนโรงไฟฟ้าให้สอดรับกับ การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ฉบับใหม่ (PDP 2022) ที่ลดเรื่องของการจัดส่งไฟฟ้าข้ามภูมิภาค โดยตามแผน PDP ฉบับใหม่ กฟผ.จะต้องลงทุนโรงไฟฟ้าดั้งเดิม(ก๊าซ) ประมาณ 6,150 เมกะวัตต์ และยังมีโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน ซึ่งได้คำนวณการปล่อยคาร์บอนไว้แล้ว ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กฟผ.มีแผนที่จะลงทุนสร้างโครงการโซลาร์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อน (Hydro-floating Solar Hybrid) กำลังผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ และยังมีแผนรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำ จาก สปป. ลาว 5 ปี ปีละ 700 เมกะวัตต์ รวมเป็น 3,500 เมกะวัตต์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน 30% ตามแผนระยะยาวได้

ส่วนการจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้ศึกษาเทคโนโลยีพลังงานจากทั่วโลกเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับองค์กรตัวเอง  โดยงานประชุมและนิทรรศการทั้ง 3 งานนี้ นับเป็นเวทีด้านพลังงานที่สำคัญที่ผู้นำด้านพลังงานในภูมิภาคจะได้มาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้โซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมด้านพลังงานที่แท้จริง รวมถึงยังเป็นเวทีที่เปิดกว้างให้มีการอภิปรายและถกกันในประเด็นต่างๆ ที่มีความสำคัญตลอดห่วงโซ่ธุรกิจไฟฟ้าและพลังงาน อีกทั้งจะมีการนำเสนอข้อมูล และรายงานต่างๆ รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงานต้องเผชิญ

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมงานยังมีโอกาสในการขยายเครือข่ายและการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกด้านพลังงานจากวิทยากรที่มาจากองค์กรอุตสาหกรรมพลังงานชั้นนำกว่า 200 แห่ง อาทิ ผู้บริหารจาก ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) การไฟฟ้านครหลวง (MEA)  การไฟฟ้ามาเลเซีย (TNB) การไฟฟ้าแห่งเวียดนาม (EVN) การไฟฟ้าแห่งอินโดนีเซีย (PLN) และตัวแทนจากภาคเอกชน เช่น  Indonesia Power, Trilliant, Wartsila, Shell, Mitsubishi,Siemens,ABB,JERA,Toyota ,Saudi Aramco และ อีกหลายองค์กร

นายพงศกร ยุทธโกวิท  ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า ลูกค้า กฟภ. ในปัจจุบันมีความต้องการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น และลูกค้าส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางส่วนก็ลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง หวังลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งการจะไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutral นโยบายของภาครัฐต้องชัดเจน และส่งเสริมเรื่องของการลงทุนพลังงานหมุนเวียนให้เกิดขึ้นภายใต้เป้าหมายเดียวกัน

ทั้งนี้การผลักดันนโยบายรัฐไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและความมั่นคงด้านพลังงานนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชนจึงจะประสบความสำเร็จได้ สำหรับการจัดงานครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 10,000 คน จากธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานทั่วภูมิภาคเอเซีย เอเซียแปซิฟิค และภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก โดยมีบริษัทด้านพลังงานชั้นนำ รวมถึงอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง กว่า 350 บริษัท มาจัดแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีล่าสุดและโซลูชั่นด้านพลังงาน รวมถึงพร้อมให้ความรู้ คำแนะนำ และข้อมูลเชิงลึก เพื่อรับมือกับความท้าทายในอุตสาหกรรมพลังงานในปัจจุบัน

นายอำพล สงวนวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจพลังไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า กฟน.ได้ดำเนินการตามแผน PDP เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ทั้งการส่งเสริมเรื่องของกรีนคาร์บอน และ Net Zero โดยเริ่มจากในส่วนขององค์กรจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ขณะที่ในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้า จะส่งเสริมเรื่องของการลดใช้ไฟฟ้าลง ผ่านโครงการอนุรักษ์พลังงาน และ โครงการ Energy Mind Award เพื่อผลักดันภาคธุรกิจให้ลดการใช้พลังงานลง

“กฟน.พยายามทำให้ระบบรองรับเรื่องของการใช้พลังงานหมุนเวียนได้สะดวกมากขึ้น และสอดรับกับนโยบายรัฐ รวมถึงส่งเสริมเรื่องของสมาร์ทกริด เพื่อรับมือกับ Disruptive technology และยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ซึ่งจะได้ขยายการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ นายกสมาคมพลังงานหมุนเวียน (อาร์อี 100) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการในสมาคมฯ ต้องการผลักดันให้เกิดการใช้ RE 100 โดยเร็ว เพื่อป้องกันเรื่องของการกีดกันการส่งออกสินค้าไปยังยุโรป แต่หากยังไม่สามารถทำให้เรื่องของ RE 100 เกิดขึ้นได้โดยเร็ว ทางสภาอุตฯ ก็จะนำเรื่องของ Digital Trading Platform ที่เป็นการพัฒนาระบบบล็อกเชนขึ้นมาใช้เป็นตลาดให้สินค้าที่หลากหลายเข้ามาใช้ ซึ่งสินค้าก็จะมีหลายประเภท เช่น คาร์บอนเครดิต T-VER และ RECs เป็นต้น ก็จะเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น คาดว่าจะเริ่มทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ในช่วงกลางเดือนหน้า

อย่างไรก็ตาม การจะผลักดันไปสู่ RE 100 นั้น หากประเมินจากกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบันที่อยู่ในระดับกว่า 50,000 เมกะวัตต์ มีการใช้ไฟฟ้าจริงอยู่ที่ประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ และในอนาคตผลิตจากพลังงาน Biomass, Biogas และน้ำ ได้ไม่เกิน 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งที่เหลือประมาณ 20,000 เมกะวัตต์ ก็ต้องหาพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงเข้ามาเพิ่มขึ้น อีกทั้งประเทศไทยมีแผนจะผลักดันการใช้รถ EV ซึ่งตามประมาณการคาดว่า ในปี ค.ศ.2050 จะมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกราว 10,000 เมกะวัตต์ ก็จะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นทวีคูณ ดังนั้นการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฯ และลม จะเป็นคำตอบ แต่ต้องเร่งพัฒนาเรื่องของแบตเตอรี่ หรือ ไฮโดรเจน เข้ามาเป็นตัวช่วยลดความผันผวนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าสู่ระบบไฟฟ้าหลักด้วย โดยหากดำเนินการได้ตามนี้ ก็จะช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutral ได้

นายภูวดล สุนทรวิภาต นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย(TPVA) กล่าวว่า จากการประเมินคาดว่า ในอนาคตประเทศไทยจะมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า ประมาณ 14,000 เมกะวัตต์ จากที่มีการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบแล้วราว 3,000 เมกะวัตต์ และมีแผนจะรับซื้อตามแผน PDP อีก 3,500 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจะเป็นการติดตั้งจากภาคประชาชน และ ผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองโดยไม่ขายเข้าระบบ (IPS) หรือ Independent Power Supply แต่ปัจจุบัน ภาครัฐยังไม่เปิดกว้างให้มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วม หรือ ส่งผ่านเข้าสู่สายส่งไฟฟ้าหลักได้ ก็ยังเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน

“วันนี้ เท่าที่คุยกัน รัฐจะคิดอัตราค่าบริการสายส่งและจำหน่าย (วิลลิ่งชาร์จ) อยู่ที่ประมาณ 1.15 บาทต่อหน่วย ซึ่งเมื่อรวมกับต้นทุนผลิตไฟฟ้าแต่ละประเภท ก็ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าแพงอยู่ ดังนั้น ตัวเลขที่เอกชนต้องการ มองว่า ควรอยู่ที่ 50-70 สตางค์ต่อหน่วย ก็น่าจะเป็นตัวเลขที่เอื้อให้เกิดการลงทุนพลังงานหมุนเวียน และทำให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ได้”

Advertisment

- Advertisment -.