ปักหมุดบูธกลุ่ม ปตท. งาน FTI Expo 2022 ไฮไลท์นวัตกรรมเด็ด 11 รายการ

- Advertisment-

มหกรรมงานแสดงนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ FTI Expo 2022 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และพันธมิตรองค์กรชั้นนำ จัดขึ้นเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.-3 ก.ค. 65 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานเปิดงาน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี​เป็นประธานเปิดงานและเข้าชมบูธของกลุ่ม ปตท.

1 ใน 340 บูธที่ผู้ชมงานจะต้องไม่พลาดเข้าชม คือ บูธของกลุ่ม ปตท. ซึ่ง คุณดวงพักตรา ไชยพงษ์ ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC​ )​ ที่เดินทางไปร่วมงานครั้งนี้ด้วย มีไฮไลท์ที่น่าสนใจมานำเสนอ

บูธของกลุ่ม ปตท. จองพื้นที่ขนาดใหญ่ ขนนวัตกรรมเด็ด 11 รายการมาจัดแสดง ไล่เรียงไปตามลำดับ ได้แก่ 1. Strawberry Harumiki ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ผลไม้เมืองหนาวจากการเพาะปลูกในโรงเรือนอัจฉริยะ ต่อยอดจากการใช้องค์ความรู้ทางวิศวกรรมของหน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท.ที่นำพลังงานความเย็นจากการแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) มาประยุกต์ใช้ในการควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก โดยเน้นการนำสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ที่ดีที่สุดจากประเทศญี่ปุ่น อาทิ Akihime มาเพาะปลูกเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ชื่นชอบรับประทานผลไม้คุณภาพสูงจากองค์ความรู้ของคนไทย

- Advertisment -

2.การต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ ‘Coffee Chalf’ ซึ่งเป็นของเสียจากกระบวนการคั่วกาแฟและวัสดุเหลือใช้อื่นๆ จากภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม มารังสรรค์ใหม่ในรูปวัสดุยั่งยืน( Sustainable materials)

3.นวัตกรรมอุปกรณ์ตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 ผลิตโดยสถาบันนวัตกรรม ปตท. เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศและส่งผลแจ้งเตือนแบบ real-time

4.นวัตกรรมวัสดุปิดแผลไฮโดรเจลไบโอเซลลูโลสมีองค์ประกอบหลักเป็นน้ำบริสุทธิ์และเส้นใยนาโนเซลลูโลสให้ความชุ่มชื้นกับผิวหนัง สร้างสภาวะที่เหมาะสมในการรักษาบาดแผลของร่างกายกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ ส่งผลให้ระยะเวลาในการรักษาแผลนั้นสั้นลงและช่วยบรรเทาความรู้สึกเจ็บแผลในขณะที่ใช้งาน

5.เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ ตั้งอยู่ ณ ต.ป่ายุบใน อ. วังจันทร์ จ.ระยอง ต้นแบบพื้นที่นวัตกรรมสมบูรณ์แบบภายใต้แนวคิด Smart Natural Innovation Platform

6.Swap & Go ผู้ให้บริการสลับแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จต้นแบบนวัตกรรมพลังงานแห่งอนาคต รองรับการขยายตัวของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า “สลับแบตไว ไปได้เร็ว” เพียงใช้งานผ่านแอปพลิเคชันและสลับแบตเตอรี่ด้วยตัวเองใช้เวลาไม่ถึง 3 นาที

7.EVme ผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านยานยนต์ไฟฟ้า “จอง รับ ขับเลย” แอปเดียวจบ ครบทุกเรื่อง EV พร้อมสนับสนุนให้คนไทยใช้พลังงานสะอาดผ่านยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

8.On-ion ผู้ให้บริการสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า บนทำเลศักยภาพ อาทิ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์ประชุม อาคารสำนักงาน พร้อมบริการติดตั้ง PTT EV Charger ในที่พักอาศัย สามารถจองและควบคุมการใช้งานผ่าน on-ion Mobile Application ทั้งในระบบ android และ iOS สะดวกในการค้นหาสถานี ‘จอง จอด จ่าย ง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว’

9.G-BOX สำหรับที่พักอาศัย ช่วยกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ที่ถูกแปลงเป็นไฟฟ้า ลดความต้องการกำลังไฟฟ้าสูงสุด เปลี่ยนหรือจัดการการใช้พลังงานไฟฟ้าในเวลาที่เหมาะสม ใช้สำหรับสำรองพลังงาน

  1. G-BOX สำหรับสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้า (EV) ทำหน้าที่หน่วยเสถียรภาพพลังงานสำหรับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า แบบเร่งด่วน ลดความต้องการกำลังไฟฟ้าสูงสุด เปลี่ยนหรือจัดการการใช้พลังงานไฟฟ้าในเวลาที่เหมะสม

11.แบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออนประสิทธิภาพสูง สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าพัฒนาโดยสถาบันวิทยสิริเมธี( VISTEC) สามารถใช้งานได้ยาวนานมากขึ้นต่อการประจุไฟฟ้าหนึ่งครั้ง และมีจุดเด่นด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานระดับสากล

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซีอีโอ​ ปตท.

คุณ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) บอกกับผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมว่า บูธที่จัดแสดงของกลุ่ม ปตท. จะมุ่งไปสู่เรื่องของพลังงานแห่งอนาคต Future Energy ที่เป็นการสนับสนุนนโยบายภาครัฐให้บรรลุเป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศน์และสังคมที่ดีขึ้น โดยเรื่องของธุรกิจใหม่ จะเน้นการลงทุนพลังงานทดแทน การลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ธุรกิจแบตเตอรี่ ที่เป็นการสร้างการเติบโตในธุรกิจสีเขียว เช่น ปตท.มีการลงทุนเรื่องของแบตเตอรี่ ก็ได้หารือกับผู้ประกอบการรถบัส เพื่อสนับสนุนให้เปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปไปสู่ EV โดย ปตท.จะสนับสนุนเรื่องของแบตเตอรี่ให้

“ปั๊มชาร์จไฟฟ้าของOR จะเริ่มเก็บค่าบริการชาร์จในเดือน ส.ค.นี้ หลังจากได้เปิดให้ประชาชนทดลองชาร์จฟรีมาครบกำหนดแล้ว และแม้ว่าจะเก็บค่าชาร์จไฟฟ้า แต่ก็ยังเป็นอัตราที่ถูกกว่าราคาน้ำมันมาก ขณะเดียวกัน OR ก็จะเดินหน้าขยายปั๊มชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จากปัจจุบัน อยู่ที่ 190 แห่ง จะเพิ่มเป็น 450 แห่งสิ้นปีนี้ ส่วนการเช่ารถ EV ของ ปตท. ภายใต้ EVme ปัจจุบันมีอยู่ 200 คัน จะเพิ่มอีก 500 คันในปีนี้”

ส่วนธุรกิจปัจจุบัน อย่างโรงกลั่นน้ำมัน ก็จะเป็นการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ให้ได้ตามมาตรฐานยูโร 5 เพื่อยกระดับเรื่องของการลดปล่อยมลพิษเพื่อดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้านธุรกิจปิโตรเคมี ก็ต้องยกระดับการใช้วัตถุดิบ(feedstock) จากผลิตภัณฑ์การเกษตร เพื่อให้เกิดการย่อยสลายได้ เป็นต้น

ในขณะที่ความร่วมมือระหว่างบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ร่วมมือกับฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ตั้ง บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS) เพื่อเดินหน้าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร (EV Value Chain) โดยจะขยายตลาดและสร้างฐานการผลิต EV ในไทยนั้น ล่าสุด ชัดเจนแล้วว่าจะจัดตั้งโรงงานในประเทศไทย ในแถบภาคตะวันออก โดยจะเริ่มการผลิตรถในช่วงต้นปี 2567 กำลังผลิตเฟสแรก 50,000 คัน ภายใต้งบลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และผลิตเฟส 2 อีก 150,000 คันต่อปีในปี 2573 ส่วนลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการแพลตฟอร์มผลิตรถ EV นั้น เบื้องต้นมีผู้เสนอเข้ามาแล้ว 2-3 ราย

นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆนี้ ทางคณะผู้บริหาร Foxconn ได้มีโอกาสเดินทางมาประเทศไทยเพื่อร่วมหารือแผนการดำเนินงานในรายละเอียดรวมทั้งหารือถึงโอกาสในการต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจอื่นๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในอุตสาหกรรม Smart Electronics และ Semiconductor รวมถึงการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำในการผลิต EV ซึ่ง ปตท. พร้อมสนับสนุนความร่วมมือต่อยอดการลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ แต่การจะดึงดูดให้ Foxconn เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติมนั้น ยังต้องอาศัยการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ เช่น เรื่องของการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนต่างๆ เป็นต้น

ขณะที่เรื่องของธุรกิจใหม่ ปตท.จะขับเคลื่อนการเติบโตตามวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” ซึ่งต้องเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งจะต้องพัฒนาธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้ได้กำลังการผลิตที่ 12 GW ภายในปี 2573 จากปัจจุบัน มีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ตามแผนลงทุน 5 ปี(2565-2569) ได้ตั้งงบประมาณอยู่ที่ราว 146,000 ล้านบาท และกลุ่ม ปตท. จะใช้งบประมาณอยู่ที่ราว 980,000 ล้านบาท เพื่อสร้างการเติบโตจากธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy and Beyond) โดยตั้งเป้าใน 10 ปีข้างหน้า ให้มีสัดส่วนการลงทุน 30% ในปี 2573

สำหรับใครที่ยังไม่ได้ไปเข้าชมงานยังมีเวลาจนถึงวันที่ 3 ก.ค. 2565 โดยนอกจากจะได้ตื่นตาตื่นใจกับนวัตกรรมทันสมัยแล้ว ยังมีสินค้าจำหน่ายมากมายให้เลือกซื้อหา ไปดูไปชมไปชิมและไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจกันได้

Advertisment

- Advertisment -.