ประสานแหล่งก๊าซเมียนมา และโรงไฟฟ้ากฟผ.เลื่อนแผนซ่อมบำรุงเพื่อความมั่นคงไฟฟ้าช่วงฤดูร้อน

- Advertisment-

สำนักงานกกพ.ประสานปตท.เจรจาโอเปอเรเตอร์แหล่งก๊าซในเมียนมาเลื่อนแผนซ่อมบำรุงช่วง เม.ย.นี้  ในขณะที่ กฟผ.ก็ต้องเลื่อนแผนซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า เพื่อให้มีความมั่นคงด้านไฟฟ้าช่วงหน้าร้อน หลังจากที่รัฐบาลประกาศงดวันหยุดช่วงสงกรานต์ 13-15 เม ย. โดยรัฐมนตรีพลังงานสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ในปีที่ผ่านๆมาผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งก๊าซยาดานาของเมียนมา ซึ่งเป็นแหล่งที่ส่งก๊าซธรรมชาติมาขายให้ประเทศไทย จะมีแผนในการหยุดส่งก๊าซเพื่อซ่อมบำรุงอุปกรณ์  โดยอาศัยจังหวะการหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ของไทยที่ประชาชนหลั่งไหลเดินทางออกต่างจังหวัด และทำให้ตัวเลขการใช้ไฟฟ้าลดต่ำกว่าปกติ เพื่อไม่ให้กฟผ.ต้องใช้น้ำมันเตาและดีเซลเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทดแทนจนส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า

โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา ได้มีแผนการหยุดจ่ายก๊าซจากยาดานาเพื่อดำเนินการซ่อมบำรุงแหล่ง
เป็นเวลา 7วัน ตั้งแต่วันที่ 11-17เม.ย.2562
ส่งผลให้ความสามารถในการจ่ายก๊าซฯ รวมฝั่งตะวันตกลดลงประมาณ 350 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็น 33% ของปริมาณก๊าซฯ ฝั่งตะวันตก

- Advertisment -

แต่ในช่วงเม.ย.ปี 2563 นี้ รัฐบาล ได้ประกาศให้วันที่ 13-15 เม.ย. ไม่ใช่วันหยุดราชการในเทศกาลสงกรานต์ เพื่อลดการเดินทางออกต่างจังหวัดของประชาชน ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาด ของไวรัส COVID-19 ที่ไทยเผชิญวิกฤตอยู่ในขณะนี้  ทำให้ ปตท.จะต้องมีการเจรจากับผู้ผลิตก๊าซจากแหล่งก๊าซในเมียนมา ที่เป็นคู่สัญญา ให้เลื่อนแผนการซ่อมบำรุงดังกล่าวออกไปก่อน

โดยนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า ทางสำนักงาน กกพ.ได้ประสานงานกับทางปตท. ให้เจรจากับผู้ผลิตแหล่งก๊าซธรรมชาติต่างๆ ที่มีแผนจะต้องหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ ประจำปี ในเดือนเม.ย.นี้  เช่น แหล่งจ่ายก๊าซฯจากเมียนมา ให้เลื่อนแผนการซ่อมบำรุงออกไปก่อนเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีก๊าซเพียงพอที่จะส่งป้อนโรงไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อน ที่ปกติมักจะเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ peak

นอกจากนี้ยังได้ประสานความร่วมมือกับ  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ให้ติดตามสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ อย่างใกล้ชิด  โดยการที่รัฐมีนโยบายให้หน่วยงานรัฐและภาคธุรกิจต่างๆมีมาตรการ Work from Home อาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อน  ดังนั้นกฟผ. จึงต้องเตรียมความพร้อมในการเดินเครื่องกำลังการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้า ซึ่งต้องมีการเลื่อนแผนการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าออกไป ไม่ให้ตรงกับช่วงที่คาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ติดตามข้อมูลสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อน(มี.ค.-เม.ย.) อย่างใกล้ชิด โดยให้ประเมินสถานการณ์เป็นรายวัน

อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น มั่นใจว่า ไฟฟ้าจะไม่ขาดแคลน เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังมีปริมาณการผลิตไฟฟ้าสำรองเหลือกว่า 30% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศ อีกทั้งปัจจุบัน แม้ว่า ประชาชนส่วนหนึ่งจะหยุดเพื่อทำงานที่บ้าน แต่ในส่วนของสถานประกอบการต่างๆ เช่น สถานบันเทิง โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าในปริมาณมาก ก็หยุดทำการด้วยเหมือนกัน  ซึ่งอาจทำให้การใช้ไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อนลดลงด้วย

ส่วนความต้องการใช้น้ำมันในช่วงเดือนมี.ค.นี้ จากการประชุมผู้บริหารกระทรวงพลังงานในช่วงต้นสัปดาห์นี้ พบว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้ประชาชนลดการเดินทางลง ทั้งการออกจากบ้านไปทำกิจกรรมต่างๆน้อยลง และการท่องเที่ยวที่หายไป ทำให้ยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงบนท้องถนน ในช่วง 3 สัปดาห์แรกของเดือน มี.ค.นี้ ลดลงไปแล้วกว่า 8% และคาดว่า ทั้งเดือนมี.ค. และ เม.ย.นี้ จะลดลงประมาณ 20% ทั้งน้ำมันดีเซล และเบนซิน

Advertisment