ปตท. เผยรายงานระบุราคาน้ำมันดิบสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี ก่อนการประชุม OPEC+ วันที่ 1 ก.ค. 64 นี้

- Advertisment-

ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยรายงานวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ระบุราคาน้ำมันดิบสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี ก่อนการประชุม OPEC+ วันที่ 1 ก.ค. 64 ทั้งนี้ ราคาทะยานขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่องจากช่วงต้นปี ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 50-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

โดยราคาน้ำมันได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความสำเร็จของสหรัฐฯ และยุโรปในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 โดยใช้กลยุทธ์กระจายวัคซีนให้มากที่สุด สหรัฐฯ ฉีดวัคซีนให้ประชาชน 54% และชาวยุโรปได้รับวัคซีนประมาณ 40-60% (ยกเว้นอังกฤษ ที่ได้รับ 65%) ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว กอรปกับ OPEC และชาติพันธมิตร (OPEC+) สามารถบริหารนโยบายการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการใช้น้ำมันส่งผลให้ปริมาณสำรองน้ำมันโลกลดลงต่อเนื่อง

นอกจากนี้กระแสข่าวว่าราคาน้ำมันดิบอาจกลับขึ้นไปแตะระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากการประโคม ข่าว Commodity Supercycle ซึ่งหมายถึง วัฏจักรขาขึ้นของสินค้าโภคภัณฑ์ ส่งผลให้ตลาดน้ำมันได้รับแรงหนุนเชิงจิตวิทยา (Sentiment) รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ช่วยสนับสนุนการลงทุนในตลาดน้ำมัน ทั้งนี้ สถานะการถือครองสุทธิ (Net Long Position) ของสัญญาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะ WTI ซึ่งใกล้เคียงระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อเก็งกำไร อย่างไรก็ดีหากเกิดการเทขายจะส่งผลกระทบให้ราคาปรับลดลง

- Advertisment -

ประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำมันคือการเจรจาข้อตกลงระงับโครงการนิวเคลียร์ (Joint Comprehensive Plan of Action – JCPOA) ระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย สหรัฐฯ และเยอรมนี ที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือน เม.ย. 64 และคาดว่าจะเจรจาลุล่วง ในเดือน มิ.ย. 64 แต่ไม่เป็นไปตามคาดและมีแนวโน้มยืดเยื้อเนื่องจากข้อตกลงที่อิหร่านอนุญาตให้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency – IAEA) สามารถเข้าไปตรวจสอบเก็บข้อมูลการดำเนินการด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน สิ้นสุดลงในวันที่ 24 มิ.ย. 64 โดยไม่มีการต่ออายุ ประกอบกับประธานาธิบดีใหม่ของอิหร่าน นาย Ebrahim Raisi  ที่ก่อนหน้านี้มีตำแหน่งประธานศาลสูงสุดและมีท่าทีแข็งกร้าวต่อชาติตะวันตกและปัจจุบันเป็นบุคคลที่ถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ อาจทำให้การเจรจายากลำบากขึ้น

ณ ปัจจุบันตลาดยังคงให้น้ำหนักต่อผลการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน OPEC+ ในวันที่ 1 ก.ค. 64 ในการกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันสำหรับเดือน ส.ค. 64 ทั้งนี้ OPEC+ เริ่มมาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเพื่อรับมือวิกฤติการณ์ COVID-19 ตั้งแต่เดือน พ.ค. 63 เป็นต้นมา และ OPEC+ จัดการประชุมอย่างสม่ำเสมอเพื่อปรับปริมาณการผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้นเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้น้ำมันดิบที่ฟื้นตัว

นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คาดว่าการใช้น้ำมันจะกลับคืนสู่ระดับ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน เท่ากับระดับก่อนเกิด COVID-19 ในช่วงปลายปี 2565 และมีมุมมองต่อราคา ณ ปัจจุบันว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent มีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวในกรอบ 75-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงก่อนหน้าการประชุม OPEC+ วันที่ 1 ก.ค. 64 โดยมีแนวต้านสำคัญอยู่ที่ระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งการตัดสินใจของ OPEC+ อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อทิศทางราคาในอนาคต และหาก OPEC+ สามารถบริหารนโยบายการผลิตให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของการใช้น้ำมันก็จะสามารถช่วยพยุงราคาน้ำมันให้ทรงตัวอยู่ในระดับกรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ให้จับตามองท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งจะประชุมวันที่ 27-28 ก.ค. 64 อาจส่งสัญญาณเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นเพื่อลดแรงกดดันของเงินเฟ้อซึ่งจะส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมัน

Advertisment