ปตท.จับมือ การนิคมฯ และสกพอ.เดินหน้าลงทุนห้องเย็นเทคโนโลยีใหม่ เก็บทุเรียนไว้ขายได้ตลอดทั้งปี

- Advertisment-

ปตท.เดินหน้าลงทุนระบบห้องเย็น Blast freezer & Cold storage ขนาด 4,000 ตัน ที่รักษาคุณภาพผลไม้ให้เสมือนเพิ่งเก็บจากสวน และนำออกขายได้ตลอดปี โดยร่วมมือกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออกเพื่อยกระดับการพัฒนาภาคเกษตรใน อีอีซี

วันนี้ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การจัดทำระบบห้องเย็น (Blast freezer & Cold storage) ภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC ) กับนางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน
และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) อาคาร กสท โทรคมนาคม ชั้น 25

โดยภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ปตท. จะเป็นผู้ลงทุนจัดทำระบบห้องเย็นทันสมัยขนาด 4,000 ตัน ที่นำเอาพลังงานความเย็นจาก
ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาใช้ประโยชน์ ส่วนหนึ่งเป็นเทคโนโลยี Blast freezer เพื่อรักษาคุณภาพผลไม้ให้เสมือนเพิ่งเก็บจากสวน และระบบ Cold storage ที่จะรักษาคุณภาพผลไม้นั้นให้ขายได้ตลอดปี ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรไทย จากที่ผ่านมาเกษตรกรชาวสวนต้องรีบตัด-รีบขาย-รีบส่ง ทำให้ขายผลผลิตไม่ได้ราคา เสียคุณภาพ และเสียชื่อเสียง

- Advertisment -

ส่วน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะเป็นผู้หาพื้นที่ เริ่มต้น 40 ไร่บริเวณ Smart Park ที่มาบตาพุด

และ สำนักงาน EEC จะประสาน
ความร่วมมือส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์ให้หน่วยงานรัฐและเอกชน โดยเฉพาะ เอกชนผู้เชี่ยวชาญการค้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประโยชน์ จากโครงการกลับไปสู่ประชาชนในพื้นที่

โดยโครงการนี้จะนำร่องด้วยทุเรียน ซึ่งเป็นราชาผลไม้ของไทย จากนั้นจะขยายผลไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ

สำหรับ ห้องเย็น Blast freezer & Cold storage อยู่ภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC ) หรือ EFC ที่ปรับการทำธุรกิจให้เป็นไปตาม “ความต้องการของตลาด” (Demand Driven Approach) คือ การวางธุรกิจทั้งระบบจากการกำหนดสินค้าและบริการที่ตลาดต้องการ ไปกำหนดวางวิธีการค้า-การขนส่ง-การเพาะปลูก ให้สนองความต้องการของตลาด ในขณะเดียวกัน ก็จะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยให้เกิดการปรับปรุงทั้งกระบวนการผลิต

โดยโครงการ EFC จะประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญคือ

1. ศึกษา ติดตาม ความต้องการของตลาด ของ ทุเรียน มังคุด และผลไม้ของภาคตะวันออก เป็นโครงการที่อยู่ในงบประมาณปี 64 เพื่อให้เข้าใจถึงพฤติกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ตลาดต้องการ

2. การวางระบบการค้าสมัยใหม่ จะเป็นการค้าผ่าน e-commerce และ e-auction รวมทั้งการลงทุน packaging จากวัสดุธรรมชาติ ให้สามารถขนส่งทางอากาศได้สะดวก เพื่อให้ผลไม้ของภาคตะวันออกเข้าสู่ตลาดสากลได้ทันที

3. การลงทุนทำห้องเย็นด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย

4. การจัดระบบสมาชิก ชาวสวนผลไม้ สหกรณ์ ที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ได้ผลผลิตพรีเมียมตรงตามความต้องการของตลาด

Advertisment