ปตท.คาดสามารถลงนามสัญญาก๊าซกับโรงไฟฟ้าใหม่ของกฟผ.เพื่อความมั่นคงไฟฟ้าได้ภายในปีนี้

- Advertisment-

ปตท.คาดสามารถลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาวให้กับโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อความมั่นคง ที่กฟผ.จะเป็นผู้ลงทุน ได้ภายในปีนี้ โดยต้องรอให้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ หรือ PDP2018 และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ(Gas Plan ) มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการก่อน  ในขณะที่แหล่งข่าวพลังงานระบุ สนพ.กำลัง พิจารณาสัดส่วนสำหรับก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) นำเข้าที่ให้ ผู้ค้ารายอื่นเข้ามาแข่งขันในการซัพพลายโรงไฟฟ้าดังกล่าวด้วย

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงการเตรียมการจัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อซัพพลายให้กับโรงไฟฟ้าใหม่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่จะเป็นโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงที่จะสร้างตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ของประเทศ  ว่า  ปตท.ได้มีการหารือกับทางกฟผ.ในเรื่องนี้แล้ว แต่จะต้องรอให้แผนพีดีพีฉบับใหม่ รวมทั้ง Gas Plan มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการเสียก่อน จึงจะทราบอย่างชัดเจนว่าปตท.จะต้องจัดหาก๊าซที่จะซัพพลายให้กับโรงไฟฟ้าใหม่ ในปริมาณเท่าไหร่  และต้องมีการหารือกันในเรื่องของราคา  ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญา ระหว่างกัน ซึ่งน่าจะดำเนินการได้ภายในปี2562 นี้

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center –ENC) รายงานว่าโรงไฟฟ้าใหม่ เพื่อความมั่นคงที่กฟผ.จะเป็นผู้ลงทุนสร้างตามแผนPDP2018  ในแต่ละภาคนั้น ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ยกเว้นภาคเหนือ คือโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่จะใช้ถ่านหินลิกไนต์   ซึ่งการซัพพลายก๊าซธรรมชาติดังกล่าว ที่ ปตท.จะเป็นผู้จัดหาให้นั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งในการลงนามความร่วมมือด้านพลังงานกับ ปตท. เพื่อหลอมรวมความเชี่ยวชาญ สร้างศักยภาพ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ เมื่อวันที่2ก.พ. 2561 ที่มีนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นสักขีพยาน

- Advertisment -

โดยโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อความมั่นคงที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิง ตามแผนPDP2018 ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น   โรงไฟฟ้าวังน้อย  จ.พระนครศรีอยุธยา  โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ โรงไฟฟ้าพระนครใต้  ที่กรุงเทพฯ โรงไฟฟ้าบางปะกง  จ.ฉะเชิงเทรา และโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี

สำหรับ แผนPDP2018 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  ตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.2562 นั้น ยังไม่ได้มีการประกาศใช้แผนอย่างเป็นทางการ โดยต้องมีขั้นตอนในการเสนอแผนให้ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ฯพิจารณาก่อนว่า มีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ20ปี หรือไม่  ซึ่งขณะนี้ ทางสภาพัฒน์ฯได้ให้ความเห็นชอบแผนดังกล่าวแล้ว และคาดว่าจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีได้ภายในเดือนเม.ย.นี้  โดยเมื่อผ่านขั้นตอนของคณะรัฐมนตรี จึงจะมีการประกาศใช้และเผยแพร่สู่สาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ www.eppo.go.th ของทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)

ในส่วนของGas Plan ที่ต้องสอดคล้องกับแผนPDP2018 นั้น ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้มีการจัดทำเรียบร้อยแล้ว  แต่ต้องรอให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้ความเห็นชอบก่อน จึงจะประกาศใช้ได้

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า  ในส่วนของการซัพพลายก๊าซให้กับโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงของกฟผ.นั้น ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีนโยบายที่จะให้ทางสนพ.ไปพิจารณา ที่จะกำหนดสัดส่วนสำหรับLNG นำเข้า ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ค้าLNGรายอื่น ซึ่งรวมถึงกฟผ. ได้เข้ามาแข่งขันในการเป็นผู้จัดหาด้วย

Advertisment

- Advertisment -.