- Advertisment-

ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ทางเทคนิค คาดราคาน้ำมัน ICE Brent ในสัปดาห์นี้ (4-8 ต.ค. 64) มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 76 ถึง 83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น หลังกลุ่ม OPEC และพันธมิตร หรือ OPEC+  มีมติยึดข้อตกลงเดิมที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน พ.ย. 64 ที่ระดับ 4 แสนบาร์เรลต่อเดือน ไม่ได้เพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นตามเสียงเรียกร้องจากประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อย่างสหรัฐฯ และอินเดีย   

การประชุมของกลุ่ม OPEC+ ในวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา มีมติเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ในเดือน พ.ย. 64 ที่ระดับ 4 แสนบาร์เรลต่อเดือน คงเดิมจากข้อตกลงในเดือน ก.ค. 64 ที่ระดับ 4 แสนบาร์เรลต่อเดือนในช่วง ส.ค.-ธ.ค. 64 ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น ทั้งนี้ กลุ่ม OPEC+ ได้รับแรงกดดันจากประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก อาทิ สหรัฐฯ จีน และอินเดีย ที่เรียกร้องให้ OPEC+ ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นให้ทันกับการฟื้นตัวของการใช้น้ำมันทั่วโลก เพื่อบรรเทาภาวะคาดแคลนพลังงานที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง 

นอกจากนั้น ทั่วโลกยังติดตามสถานการณ์ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและไต้หวัน โดยกระทรวงกลาโหมไต้หวันแถลงว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 64 (วันชาติจีน) จีนได้นำเครื่องบินกองทัพจำนวน 93 ลำ รุกล้ำเขตพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของเขตป้องกันภัยทางอากาศไต้หวัน (Air Defense Identification Zone: ADIZ) บริเวณหมู่เกาะปราตัส (Pratas Island) ซึ่งถือว่าเป็นการทำลายสันติภาพในภูมิภาค และทางสหรัฐฯ ได้ออกมาเรียกร้องให้จีนหยุดใช้แรงกดดันทางทหาร การทูต และเศรษฐกิจของไต้หวัน ทั้งนี้ รัฐบาลจีนยังไม่ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว

- Advertisment -

สำหรับสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 27 ก.ย.-1 ต.ค. 64 ราคาน้ำมันโลกปรับขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ดังนี้

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบรวมของแองโกลาและไนจีเรีย ตั้งแต่เดือน ม.ค. – ก.ย. 64 ลดลง 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 2.55 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณต่ำกว่าโควตาที่ได้รับจากกลุ่ม OPEC+ ที่ระดับ 2.83 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการลงทุนด้านพลังงานฟอสซิลที่ลดลง รวมถึงการปิดซ่อมบำรุงแหล่งผลิตที่ยืดเยื้อจากปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19
  • จีนประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่เศรษฐกิจทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เนื่องจากราคาถ่านหินเพิ่มสูงขึ้น ผู้ผลิตถ่านหิน 60% – 70% ของจีนประสบภาวะขาดทุนเนื่องจากไม่สามารถผลักภาระให้ผู้บริโภคได้ โดยนายกรัฐมนตรีจีน นาย Li Keqiang ประกาศจะดำเนินการจัดหาพลังงานและไฟฟ้าให้เพียงพอ และจะรักษากิจกรรมทางเศรษฐกิจให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม
  • การประชุม Joint Technical Committee (JTC) ของกลุ่ม OPEC+ คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันในปี 2564 จะต่ำกว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน (Deficit) ที่ระดับ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • นาย Greg Hill ประธานบริษัท Hess ของสหรัฐฯ คาดว่าภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 หรือไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ก.ย. 64 เพิ่มขึ้น 4.6 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 418.5 ล้านบาร์เรล และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. 64 เพิ่มขึ้น 31,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 11.31 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • Baker Huges รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig Count) ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 ต.ค. 64 เพิ่มขึ้น 7 แท่น จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 428 แท่น สูงสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 63
  • Kpler รายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของภูมิภาคเอเชียเดือน ก.ย. 64 ลดลง 0.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 31.71 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากเป็นช่วงเดือนเชื่อมต่อระหว่างฤดูร้อนและฤดูหนาว
  • บริษัท PetroChina และ Hengli Petrochemical ของจีนประมูลซื้อน้ำมันดิบจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ของจีน ปริมาณรวม 4.43 ล้านบาร์เรล

Advertisment