บ้านปู ทุ่ม 23,907ล้านซื้อแหล่งก๊าซฯในเท็กซัสพร้อมตั้งบ้านปู เน็กซ์ ลุยลงทุนพลังงานสะอาด

- Advertisment-

บ้านปู ซื้อแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ในมลรัฐ  เท็กซัส สหรัฐอเมริกา ประมาณ 23,907 ล้านบาท ซึ่งทำให้บริษัทก้าวเป็นผู้นำกลุ่มธุรกิจก๊าซ 20 อันดับแรกในสหรัฐฯ พร้อมตั้ง บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด เมื่อ 27 ก.พ. 2563 เพื่อเป็นผู้ลงทุนหลัก ในการพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธุรกิจล่าสุดที่บริษัทได้ลงทุนไปเมื่อเดือนธันวาคม 2562 คือการเข้าซื้อแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ในมลรัฐ  เท็กซัส สหรัฐอเมริกา ใช้เงินลงทุน 770 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 23,907 ล้านบาท) ซึ่งแหล่งก๊าซฯ นี้มีอุปสงค์การใช้ก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในสหรัฐฯ คิดเป็น 15% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติรวมของประเทศ และส่งผลให้บ้านปูฯ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 20 อันดับแรกของสหรัฐฯ

การเข้าซื้อกิจการแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ นับได้ว่าอยู่ในช่วงเวลาและราคาที่น่าพึงพอใจ ทั้งยังมีความเสี่ยงและมีต้นทุนการดำเนินการที่ต่ำ และช่วยยกระดับศักยภาพของบ้านปูฯ ให้มีพอร์ตทางธุรกิจที่หลากหลายต่อยอดความเป็นผู้นำและศักยภาพในการบริหารทรัพยากรด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติของบ้านปูฯ จากเดิมที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติ Marcellus ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ ของมลรัฐเพนซิลเวเนียอยู่แล้ว นอกจากนี้ การเข้าซื้อบาร์เนตต์ฯ ยังมีโอกาสคืนทุนได้เร็ว โดยคาดว่าสามารถคืนทุนให้บ้านปูฯ ได้ภายใน 6 ปี ขณะที่มีปริมาณสำรองการผลิตระยะยาวอย่างน้อย 16 ปี

- Advertisment -

นอกจากนี้ บ้านปูฯ ได้ปรับกระบวนทัพทางธุรกิจครั้งสำคัญ โดยการจัดตั้ง บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ที่มีทุนจดทะเบียน 7,919 ล้านบาท เสร็จเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งจะดำเนินงานเป็นบริษัทหลัก (Flagship) ของกลุ่มบริษัทบ้านปูฯ เพื่อมุ่งลงทุนและพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน อาทิ การดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การให้บริการวางระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด การออกแบบและผลิตยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน และระบบการจัดการเทคโนโลยีพลังงาน เพื่อเสริมทัพสมาร์ทโซลูชันด้านพลังงานอย่างครบวงจร

สำหรับภาพรวมปี 2562 บ้านปูฯ มีรายได้จากการขายรวม 2,759 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 85,660 ล้านบาท) ลดลงจากปีก่อน 722 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 22,416 ล้านบาท) คิดเป็น 21% มีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 695 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 21,578 ล้านบาท) ลดลง 41% จากปี 2561  และมีกำไรสุทธิก่อนผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนคิดเป็นจำนวน 75 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,329 ล้านบาท) ซึ่งปรับลดลง66% จากปี 2561 จากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐ ทำให้เกิดผลขาดทุนจากการแปลงค่างบการเงินจำนวน 95 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,950 ล้านบาท) งบการเงินรวมจึงได้บันทึกขาดทุนสุทธิจำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 621 ล้านบาท)

Advertisment

- Advertisment -.