นักวิชาการชี้ “ข้อดี-ข้อเสีย” ระบบ Net Metering สำหรับประเทศไทย

- Advertisment-

การส่งเสริมติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านหรือโซลาร์รูฟท็อป เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ประชาชน ตามข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมตรี ซึ่งนั่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ในช่วงนั้น ที่ให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมทั้งกระทรวงพลังงาน ไปพิจารณาดำเนินการด้วยระบบที่เรียกว่า Net Metering ซึ่งให้ ครัวเรือนที่ติดตั้ง โซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน สามารถนำพลังงานไฟฟ้าที่เหลือใช้ในเวลากลางวันส่งกลับเข้าไปในระบบโดยนำหน่วยไฟฟ้าที่ได้ไปหักลบกับหน่วยไฟฟ้าที่ครัวเรือนต้องซื้อจากการไฟฟ้าในเวลากลางคืน โดยสะท้อนในบิลค่าไฟฟ้าเดือนถัดไป ที่กลายเป็นกระแสในช่วงนี้ว่า​ จะสามารถทำได้จริงเป็นรูปธรรมหรือไม่ เพราะมีข้อแตกต่างจากระบบมิเตอร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งระบบดังกล่าวยังมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

เพื่อให้ผู้อ่านได้มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับ ระบบ Net Metering ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ ทางศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center -ENC ) จึงตั้งเป็นประเด็นคำถาม เพื่อให้นักวิชาการด้านไฟฟ้า ที่มีความรู้และติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น คือ ผศ.ดร.จิรวดี ผลประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มาช่วยตอบคำถาม โดยหวังว่าจะมีแง่มุมที่เป็นประโยชน์ให้ฝ่ายที่กำหนดนโยบาย และประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าได้พิจารณาเรื่องนี้ไปพร้อมกัน

ผศ.ดร.จิรวดี ผลประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ผศ.ดร.จิรวดี อธิบายว่า Net Metering หรือ “การคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วยตามจริง” ในหลักการเป็นการคิดค่าไฟฟ้า โดยคำนวนจากจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์รูฟท็อปในบ้าน หักลบกับจำนวนที่ใช้ไปเพื่อเป็นเครดิตสำหรับรอบบิลไฟฟ้าเดือนถัดไป ตัวอย่างสมมติเช่น หากบ้านของเราใช้ไฟฟ้าจำนวน 900 หน่วย คิดค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4 บาท ต้องจ่ายบิลประมาณ 3,600 บาท แต่ถ้าบ้านเรามีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในบ้านได้ 500 หน่วย ซึ่งหากนำไฟฟ้าที่ใช้จำนวน 900 หน่วย ลบออกจากไฟฟ้าที่บ้านเราผลิตได้เอง 500 หน่วย เพราะฉะนั้น บ้านหลังนี้จึงจ่ายค่าไฟฟ้าเดือนดังกล่าวเพียง 400 หน่วย หรือ 1,600 บาท อย่างไรก็ตามตัวเลขจริงจะเป็นอย่างไร จะขึ้นอยู่กับอัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วย ณ ช่วงเวลาดังกล่าว ที่บวกรวมกับต้นทุนอื่นๆ ที่มาจากการไฟฟ้าด้วย

- Advertisment -

โดยประเทศที่มีการนำระบบ Net Metering มาใช้ในปัจจุบัน อาทิ สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก มาเลเซีย อินเดีย และฟิลิปปินส์ โดยมีนโยบายการส่งเสริมที่แตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศนั้นๆ

สำหรับไทย ปัจจุบันใช้ระบบมิเตอร์ไฟฟ้า เป็นเครื่องวัดที่ทำงานด้วยการเหนี่ยวนำไฟฟ้า ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวัด ปริมาณกำลังไฟฟ้ากระแสสลับทั้งในบ้านเรือน และในโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีหน่วยวัดพลังงานไฟฟ้าเป็น กิโลวัตต์ชั่วโมง (Kilowatt-hour) สามารถจำแนกตามระบบไฟฟ้าได้ 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 เป็นวัตต์ฮาวร์มิเตอร์ 1 เฟส ประเภทที่ 2 วัตต์ฮาวร์มิเตอร์ 3 เฟส แบบ 3 จานหมุนและ 2 จานหมุน

ซึ่งมิเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้นั้นมีหลากหลาย โดยแบ่งตามประเภทการใช้งานได้ 8 ประเภท ได้แก่

  1. มิเตอร์ไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัย
  2. มิเตอร์ไฟฟ้าสำหรับกิจการขนาดเล็ก
  3. มิเตอร์ไฟฟ้าสำหรับกิจการขนาดกลาง
  4. มิเตอร์ไฟฟ้าสำหรับกิจการขนาดใหญ่
  5. มิเตอร์ไฟฟ้าสำหรับกิจการเฉพาะอย่าง
  6. มิเตอร์ไฟฟ้าสำหรับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
  7. มิเตอร์ไฟฟ้าสำหรับกิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร
  8. มิเตอร์ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าชั่วคราว

โดยมิเตอร์ไฟฟ้าแบบปกติทั่วไป จะมีค่าบริการ ขึ้นอยู่กับอัตราของทางการไฟฟ้าเป็นผู้กำหนด โดยคิดค่าไฟฟ้าแบบ Progressive rate หรืออัตราก้าวหน้า ซึ่งหากเรามีการใช้ไฟฟ้ามากค่าบริการไฟฟ้าต่อหน่วยก็ยิ่งแพงขึ้นตามการใช้งาน

ส่วนมิเตอร์ไฟฟ้าแบบ TOU (Time of Use) จะคิดราคาค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาที่ใช้งาน โดยมีการแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ เวลา On Peak และ เวลา Off Peak
โดย​ On Peak เป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ามาก คือ ช่วงเวลาปกติ จันทร์-ศุกร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ 09.00 น. – 22.00 น. ราคาค่าไฟจะสูง ~5.80บาท/หน่วย
สำหรับ Off Peak ช่วงมีความต้องการใช้ไฟต่ำ คือ จันทร์-ศุกร์ช่วงเวลา 22.00 น. – 09.00 น. และวันเสาร์อาทิตย์ตลอดทั้งวัน วันหยุดนักขัตฤกษ์ ตามที่การไฟฟ้าแจ้งประกาศประจำปี อัตราค่าไฟฟ้าของมิเตอร์แบบ TOU เหมาะกับบ้านอยู่อาศัย, กิจการขนาดเล็ก, โรงงานอุตสาหกรรม ที่ใช้ไฟฟ้าในช่วง off Peak หรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่สามารถเลือกการใช้งานให้เหมาะสมกับช่วงเวลาได้

ประเด็นที่น่าสนใจ ที่ ผศ.ดร.จิรวดี อธิบาย เพิ่มเติม กรณีหากมีการนำระบบ Net Metering มาใช้ ในไทยจริง ก็คือ ข้อดีและข้อเสีย ของระบบดังกล่าว

โดยข้อดีสำหรับผู้ที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านและใช้ระบบ Net Metering ควบคู่กัน คือการลดค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้าของครัวเรือนนั้นๆ ลงได้ เพราะสามารถนำปริมาณไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้งานไปแลกเป็นเครดิตหรือลดค่าไฟฟ้าในบิลถัดไปได้ ซึ่งในภาพรวมก็ส่งเสริมให้มีการใช้แหล่งพลังงานทดแทนมากขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม การกระจายรายได้ในภาคครัวเรือน เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเป็น “ผู้ผลิต” ผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนแบบต่างๆ ลดการสูญเสียไฟฟ้าจากการส่งผ่านระยะทางไกล และสามารถลดการใช้พลังงานที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ ตามนโยบายของรัฐบาลได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่เป็นข้อเสีย ก็คือ ภายใต้โครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของไทยในปัจจุบัน การนำระบบ Net Metering มาใช้ในทันที อาจจะเกิดปัญหาที่กระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้า เพราะในราคาขายปลีกไฟฟ้า มีส่วนต้นทุนที่ต้องชดเชยการลงทุนให้กับการไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความคุ้มทุนระบบสายส่งในการให้บริการประชาชนในพื้นที่ที่ห่างไกล โดยที่ยังสามารถใช้ไฟฟ้าได้ในอัตราเดียวกันทั้งประเทศ (uniform tariff). นอกจากนี้ ผศ.ดร.จิรวดี ยังมองว่า ระบบ Net Metering เป็นมิเตอร์แบบดิจิทัล ซึ่งแตกต่างจากมิเตอร์จานหมุนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่ไม่สามารถเก็บข้อมูลไฟฟ้าไหลย้อนเข้าระบบที่จะนำมาหักลบได้ ดังนั้น ทางการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจึงจะต้องมีการปรับระบบการทำงานใหม่ด้วย

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่รวมอยู่ในค่าไฟฟ้า โดยทางกรมสรรพากรยังมองว่าการซื้อ/ขายไฟฟ้าถือเป็น 2 ธุรกรรม ที่ต้องคิดภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายผู้ซื้อและฝ่ายผู้ขาย แต่ระบบ Net Metering จะเป็นการหักลบหน่วยซื้อ/ขายไฟฟ้าที่เป็นแค่หนึ่งธุรกรรม หากนำมาใช้ก็จะทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรลดลง

ตัวอย่างบ้านที่ติดตั้ง​โซลาร์​รูฟท็อป​ในปัจจุ​บัน

ผศ.ดร.จิรวดี อธิบายด้วยว่า ในเชิงเทคนิคการที่จะเปลี่ยนมิเตอร์เดิมมาเป็นมิเตอร์ที่เป็น Net Metering นั้นถือว่าไม่มีปัญหาในการเชื่อมโยงกับระบบสายส่งปัจจุบัน เพียงแต่ในขณะนี้ยังไม่มีมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์บนหลังคาระดับครัวเรือน ภายใต้ระบบ Net Metering โดยเป็นเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐซึ่งกำกับดูแลจะต้องพิจารณา ตัดสินใจ

โดยมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยเน้นไปที่ระดับกิจการ (utility scale) เช่น โซลาร์ฟาร์ม ซึ่งมี กลไกสนับสนุนผ่านการรับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff ในขณะที่ระบบ Net Metering ยังเป็นเพียงโครงการนำร่องโดยการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่ผลิตเพื่อใช้เองและเก็บข้อมูลเพื่อประเมินผลเพราะยังคงติดอยู่ที่ระเบียบการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าที่ไม่อนุญาตให้มีกระแสไฟฟ้าไหลย้อนเข้าสู่ระบบ ส่วนแผนนำร่องรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนก็ยังมีการจำกัดโควตา และอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ 2.20 บาทต่อหน่วย ซึ่งยังไม่จูงใจการลงทุนในระดับครัวเรือนมากนัก

โดย ผศ.ดร.จิรวดี มองว่า ระบบ Net Metering ที่จะใช้ในประเทศไทย จำเป็นต้องมีการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ โดยการกำหนดนโยบายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในระดับครัวเรือน และจัดทำระบบไฟฟ้าที่สามารถรองรับไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้อย่างสมดุล และไม่เป็นภาระที่มากเกินไปกับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวม

คำอธิบาย จาก ผศ.ดร.จิรวดี ในเรื่องของ Net Metering ทำให้เห็นถึงโจทย์สำคัญที่ผู้กำหนดนโยบายด้านพลังงาน ต้องตัดสินใจ ว่าจะผลักดันนโยบายการส่งเสริมโซลาร์เซลล์ในระดับครัวเรือนให้เกิดขึ้นได้อย่างสมดุลได้อย่างไร โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นรายได้ของรัฐ และไม่สร้างภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

Advertisment

- Advertisment -.