ทำไมปีนี้ต้องปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเอฟที และรัฐต้องส่งสัญญาณให้ช่วยกันประหยัด

- Advertisment-

ค่าไฟฟ้าในส่วนค่าเอฟที ซึ่งย่อมาจากคำว่า Fuel Adjustment Charge  ส่วนใหญ่เป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. และค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนและประเทศเพื่อนบ้าน

ดังนั้น ในปี 2565 นี้ที่ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงเกือบทุกประเภททั้งก๊าซ ถ่านหิน น้ำมัน มีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ไม่มีเงินในบัญชีเพื่อบริหารจัดการค่าเอฟทีเหลืออยู่แล้ว เพราะใช้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อช่วยลดผลกระทบค่าไฟฟ้าในช่วงที่มีการแพร่ระบาดหนักของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 และ 2564 จึงมีการประเมินไว้ว่าตลอดทุกงวดค่าเอฟทีในปี 2565 คือ ม.ค.-เม.ย  พ.ค-ส.ค. และ ก.ย.-ธ.ค. จะต้องมีการปรับขึ้นค่าเอฟที โดยในงวด ม.ค.-เม.ย. นั้น มีการปรับขึ้นไปแล้ว 16.71 สตางค์ต่อหน่วย จากที่เคยติดลบ -15.32 สตางค์ต่อหน่วยในงวดก่อนหน้ามาอยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนงวดต่อๆ ไป จะมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆเหล่านี้ที่ทาง กกพ. จะเป็นผู้พิจารณาตามข้อเท็จจริงดังนี้

1. ต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า โดยนับตั้งแต่ที่มีสถานการณ์​สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนช่วงกลางเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาเชื้อเพลิงทั้ง น้ำมัน ถ่านหิน และ LNG มีความผันผวนในระดับสูง ในขณะที่ไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ ทั้ง น้ำมันดิบ ถ่านหิน และ LNG จึงหลีกหนีไม่พ้นที่ราคาต้นทุนพลังงานจะต้องปรับสูงขึ้นตามไปด้วย

- Advertisment -

ในขณะที่ปัจจัยภายในประเทศเองยังมีกรณีที่การผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านแหล่งเอราวัณที่เป็นแหล่งผลิตก๊าซฯ ขนาดใหญ่จากระบบสัมปทานไปสู่ระบบแบ่งปันผลผลิตที่ไม่ต่อเนื่อง ทำให้ก๊าซฯ ที่เคยคาดว่าจะผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 800 ล้านลูกบาศก์​ฟุตต่อวัน เหลือเพียง 425 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทำให้ต้องมีการจัดหาก๊าซฯจากแหล่งอื่น รวมทั้งการนำเข้า LNG ในตลาดจร (Spot LNG) ที่มีราคาแพงกว่ามาทดแทนก๊าซฯ ส่วนที่ขาดไป

ทั้งนี้ ในสถานการณ์ที่ราคา Spot LNG ปรับขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แตะ 90 เหรียญสหรัฐ​ต่อล้านบีทียู ก่อนที่จะปรับลดลงมาเหลือประมาณ 40-50 เหรียญสหรัฐ​ต่อล้านบีทียู  ซึ่งก็ยังเป็นราคาที่สูงจนกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า รัฐจึงมีนโยบายที่จะหันไปผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอื่น เช่น ดีเซลและถ่านหินที่แม่เมาะ ทดแทน  อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวสามารถทำได้จำกัด  เพราะหลายปีที่ผ่านมาจากอดีตถึงปัจจุบัน โครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของประเทศกว่า 60% พึ่งพาก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิง และพลังงานหมุนเวียน มีการทยอยลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน (ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าต้นทุนต่ำ) ลงตามลำดับ เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสพลังงานสะอาดของโลกที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อย CO2  ทำให้มีไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงก๊าซสูงถึง 60 %

ในขณะที่ไฟฟ้าที่มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ทั้งที่มาจากเขื่อนของ กฟผ. และซื้อจากเพื่อนบ้านคือ สปป.ลาว ที่มีต้นทุนต่ำ ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงเรื่องปริมาณน้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็ยังเป็นพลังงานสะอาด และเป็นเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่สามารถเข้ามาเชื่อมต่อ ทดแทนระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิง LNG น้ำมันดีเซล หรือน้ำมันเตาได้ทันที จึงง่ายต่อการบริหารจัดการเชื้อเพลิงเพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า และเป็นเหตุหนึ่งที่รัฐเลือกที่จะเร่งรัดให้มีความร่วมมือในการซื้อไฟฟ้าระหว่างไทย กับ สปป.ลาว ให้เร็วกว่ากำหนดในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน

ส่วนนโยบายการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เน้นเชื้อเพลิงชีวมวล/ก๊าซชีวภาพนั้น ถึงแม้ว่าการผลิตไฟฟ้าจะผูกกับผลิตผลทางการเกษตรตามฤดูกาล หรือแม้กระทั่งการรับซื้อไฟฟ้าด้วยการใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงที่ผูกติดกับปริมาณขยะเพื่อป้อนเข้าโรงไฟฟ้า รวมไปถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ ต่างก็มีข้อจำกัด แต่ก็ยังเป็นตัวเลือกที่ดีในยามที่กำลังเผชิญวิกฤตราคาพลังงานจากฟอสซิลซึ่งแพงกว่าพลังงานหมุนเวียน โดยที่จะต้องใช้การบริหารจัดการมาเป็นตัวช่วย อาทิ การเร่งรัดประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวล/ชีวภาพที่เข้าร่วมโครงการของ สำนักงาน กกพ. อยู่แล้ว มีปริมาณการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินที่พร้อมขายเข้าระบบทันทีโดยที่ไม่ต้องลงทุนโครงข่ายเพิ่มเติม ก็จะเข้ามาหนุนในยามวิกฤตเช่นกัน

2. อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงช่วงนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อค่าเอฟที และค่าไฟฟ้า เนื่องจากเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ การซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว  ดังนั้นอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่อ่อนค่าหรือแข็งค่าจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ธุรกรรมการนำเข้า/ส่งออกของประเทศ และการดำเนินนโยบายควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงมีผลต่อการคำนวณค่าเอฟทีในแต่ละงวด

3. การประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้า ที่กำลังจะเข้าฤดูร้อน ประชาชนมีความต้องการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก และฤดูร้อนยังเป็นช่วงที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าทำลายสถิติเกือบทุกปี โดยเฉพาะการเปิดใช้เครื่องปรับอากาศที่กินไฟสูง ทำให้ต้องผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยจำเป็นต้องเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงซึ่งก็คือโรงไฟฟ้าก๊าซ หรือดีเซล เพื่อให้เพียงพอรองรับความต้องการใช้ ดังนั้นเมื่อต้องผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิง LNG และดีเซลที่มีราคาสูงจึงกระทบต่อค่าเอฟทีด้วย 

แนวโน้มที่เกิดขึ้น บ่งชี้ว่าช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 ที่จะมาถึง กกพ. จะต้องมีการปรับขึ้นค่าเอฟที ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น  ทางออกสำคัญที่จะช่วยลดค่าไฟฟ้าลงได้อย่างเห็นผล คือการร่วมมือร่วมใจกันประหยัดการใช้ไฟฟ้า ทั้งในภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐ  เพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลง จะทำให้ กฟผ. ลดการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงสุดลงได้ และช่วยให้ประเทศชาติไม่ต้องแบกรับภาระเกินความจำเป็น

โดยเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ทางรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุพัฒน์​พงษ์ พันธ์​มีเชาว์ พร้อมผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงพลังงาน  ปตท. และ กฟผ. ก็จัดแคมเปญ​ “รวมพลังคนไทย ลดใช้พลังงาน หาร 2” เพื่อย้ำให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์​ความผันผวนของราคาพลังงานโลกที่จะกระทบต่อราคาพลังงานในประเทศ และเน้นย้ำให้ทุกคนร่วมกันประหยัด

คำตอบของค่าไฟฟ้าจะขึ้นมากหรือน้อยและใครจะเซฟค่าใช้จ่ายค่าไฟลงได้แค่ไหน จึงอยู่ที่การมีส่วนร่วมของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคน

Advertisment

- Advertisment -.