ตาม ENC ลงแท่นผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ (1) : ไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ

- Advertisment-

ตาม ENC ลงแท่นผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ (1) : ไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ

เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) ได้มีโอกาสลงพื้นที่แท่นผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ พร้อมกับผู้บริหารระดับสูงของผู้ดำเนินการในแหล่งเอราวัณ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด คือ คุณไพโรจน์    กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ทำให้ได้รับข้อมูลที่น่าสนใจในภาพรวมของการผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ที่เราอยากจะมาถ่ายทอดให้ผู้อ่านของ ENC ทราบกัน

ไทยมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมน้อย

- Advertisment -

ถึงแม้ว่า “เอราวัณ” จะเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ผลิตอย่างต่อเนื่องมาตลอด 36 ปีจนทำให้ใครหลายคนคิดไปว่าไทยเป็นประเทศที่ร่ำรวยพลังงาน แต่ในข้อเท็จจริงแล้วปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วของไทยเมื่อเทียบกับปริมาณสำรองของทั้งโลกนั้นถือว่าน้อยมาก จากข้อมูลในรายงาน BP Statistical Review of World Energy Outlook 2015 ไทยมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.13% และ 0.03% ของปริมาณสำรองทั่วโลก ตามลำดับ

นอกจากนั้น ข้อมูลจากบริษัทชั้นนำอย่าง Wood Mackenzie ที่ทางผู้บริหารเชฟรอนนำมาแสดง ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทยมีจำกัด และน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย เวียดนาม บรูไน เมียนมาร์ และอินโดนีเซีย ทั้งยังมีแนวโน้มที่ลดลงเรื่อยๆ นอกจากนั้น ทรัพยากรปิโตรเลียมของไทย ยังถูกนำขึ้นมาใช้ในเชิงพาณิชย์ในสัดส่วนที่สูงเกือบ 60% ของปริมาณสำรองที่มีอยู่ (ดูกราฟ – แท่งสีส้ม) ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าการนำทรัพยากรปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ของหลายประเทศในอาเซียน ทั้งมาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยมีเพียงบรูไนและอินโดนีเซียเท่านั้น ที่มีสัดส่วนการนำมาใช้ สูงกว่าไทย

 

และหากดูตามกราฟ แม้ไทยจะมีปริมาณปิโตรเลียมที่ยังเหลือให้นำมาผลิตเชิงพาณิชย์ในสัดส่วนที่สูงกว่าเกือบทุกประเทศ (ยกเว้นเมียนมาร์) แต่เมื่อมองดูปริมาณสำรองในส่วนพื้นที่สัมปทานที่ยังไม่ได้มีการสำรวจว่าจะมีปิโตรเลียมคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์หรือไม่ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะสามารถยืดอายุของปริมาณสำรองออกไปได้อีก ก็พบว่าไทยเหลือสัดส่วนตรงนี้ไม่ถึง 10% (กราฟแท่งสีเขียวอ่อน) น้อยกว่าทุกประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับมาเลเซีย  เมียนมาร์ ที่ยังเหลือสัดส่วนอยู่มากกว่า 20%

ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องเร่งผลักดันนโยบายการเปิดเชิญชวนให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ หลังจากทิ้งช่วงระยะเวลามานานกว่า 10 ปี โดยครั้งล่าสุดที่เปิดเชิญชวนให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้นเกิดขึ้นในปี2550 ทั้งนี้ เพื่อเสาะหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ นอกเหนือจากพื้นที่สัมปทานที่มีอยู่เดิม มาเติมปริมาณสำรองปิโตรเลียมให้มากขึ้นจากปริมาณสำรองเดิมที่เหลืออยู่

ไทยพึ่งพาพลังงานนำเข้า

ปิโตรเลียมที่ผลิตได้ในประเทศนั้นไม่เพียงพอกับความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศ ทำให้ต้องมีการนำเข้าพลังงานทั้งก๊าซและน้ำมันดิบจากต่างประเทศเข้ามาเติมในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อมูลจาก สนพ. ระบุว่า  ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของไทย ที่เฉลี่ยอยู่ประมาณ 4,864 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันนั้น เป็นส่วนที่ผลิตได้เองประมาณ 3,521 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็น 72% ของความต้องการ โดยจำนวนประมาณ 1,280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน นั้นมาจากแหล่งก๊าซเอราวัณในอ่าวไทย  ส่วนก๊าซนำเข้าทั้งจากเมียนมาร์และ LNG นั้น คิดเป็นปริมาณ 1,343 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือมีสัดส่วนประมาณ 28%  สำหรับน้ำมันดิบนั้น ไทยมีความต้องการใช้เฉลี่ย 1.02 ล้านบาร์เรลต่อวัน เราผลิตได้เองในประเทศเพียง 1.26 แสนบาร์เรลต่อวัน หรือ 12% และต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศอีก 8.85 แสนบาร์เรลต่อวัน หรือ 88 % แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ

ข้อเท็จจริงเหล่านี้จึงเป็นคำตอบไปในตัวว่าไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ร่ำรวยพลังงาน เหมือนซาอุดิอาระเบีย และอีกหลายประเทศในตะวันออกกลางที่เป็นเจ้าของบ่อน้ำมันขนาดใหญ่  อย่างที่มีคนพูดๆและแชร์กันอยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย แต่ในทางกลับกันเราต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง ก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์ (ผ่านทางท่อส่งก๊าซ) การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และถ่านหินจากต่างประเทศ รวมทั้งนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป. ลาว เป็นต้น

จึงเป็นข้อสรุปว่า ทำไมรัฐจึงให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ และการกำหนดโครงสร้างราคาพลังงาน ที่ต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงให้มากที่สุด ทั้งในส่วนของราคาก๊าซและราคาน้ำมัน อีกทั้งยังจำเป็นต้องสร้างความต่อเนื่องของการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งผลิตปัจจุบัน ซึ่งเห็นได้จากการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าอย่างแหล่งเอราวัณและบงกช ก็เพื่อให้การผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยไม่สะดุดหรือหยุดชะงัก จนอาจทำให้ต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น อันจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานในประเทศได้

Advertisment

- Advertisment -.