ตาม ENC ลงแท่นผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ (5 ) : สภาพธรณีวิทยาของอ่าวไทยมีความซับซ้อน ต้องใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และบุคลากรที่มีคุณภาพ

- Advertisment-

ตาม ENC ลงแท่นผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ มาถึงตอนที่ 5  อยากจะพาผู้อ่านลงลึกในเรื่องของโครงสร้างทางธรณีวิทยาใต้ท้องทะเลอ่าวไทย ให้เข้าใจว่าทำไมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยจึงต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ดังที่ได้เกริ่นมาบ้างแล้วในตอนก่อนๆ

 

อ่าวไทยมีโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่ซับซ้อน

- Advertisment -

จากภาพจำลองโครงสร้างทางธรณีวิทยาของอ่าวไทยที่ผู้บริหารของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้ดำเนินการหรือโอเปอร์เรเตอร์แหล่งเอราวัณ อธิบายให้กับทีมข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) ได้เข้าใจนั้น จะเห็น ‘แหล่งกักเก็บ’ มีลักษณะเป็นเสี้ยววงกลม ขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง อยู่กระจัดกระจายใต้พื้นทะเล ในระดับความลึก 3 – 3.5 กิโลเมตร โดยแหล่งกักเก็บสีแดงคือมีปิโตรเลียมอยู่ ส่วนสีเหลืองคือน้ำ ซึ่งหมายความว่าบางแหล่งกักเก็บมีปิโตรเลียมอยู่มากกว่าครึ่ง บ้างก็มีน้อยไม่ถึงครึ่ง และบางส่วนก็มีแต่น้ำ ไม่มีปิโตรเลียมอยู่เลย

จากภาพจะเห็นได้ว่าแหล่งกักเก็บไม่ได้มีโครงสร้างขนาดใหญ่เป็นแอ่งติดต่อกันและมีปริมาณก๊าซมากอย่างที่คาดไว้เมื่อตอนที่ค้นพบแหล่งเอราวัณ แต่มีลักษณะเป็นกระเปาะเล็กๆ กระจัดกระจายตัวอยู่ใต้พื้นทะเล ซึ่งเป็นเพราะปิโตรเลียมของแหล่งเอราวัณอยู่ในแหล่งกักเก็บที่เป็นแนวหินทรายที่เกิดจากการสะสมตัวของตะกอนแม่น้ำและสันทรายริมแม่น้ำสายเล็กๆ ที่ไหลผ่านทั่วบริเวณนี้เมื่อหลายสิบล้านปีที่แล้วขณะที่ระดับน้ำทะเลอยู่ต่ำกว่านี้มาก แนวหินทรายเหล่านี้จึงมีขนาดเล็กและอยู่กระจัดกระจายกันในพื้นที่กว้างใหญ่ นอกจากนั้น การทรุดตัวของแผ่นดินตามธรรมชาติในเวลาต่อมาได้ทำให้เกิดแนวรอยเลื่อนของแผ่นดิน (เส้นสีดำที่ขีดลงตามแนวดิ่งในภาพจำลอง) จำนวนมาก มาสับซอยแนวหินทรายเหล่านี้ให้ยิ่งเล็กลงไปอีก

โครงสร้างของแหล่งกักเก็บก๊าซที่เล็กและอยู่กระจัดกระจาย ทำให้ผู้รับสัมปทานต้องปรับเปลี่ยนการลงทุนพัฒนาแหล่งเอราวัณ จากเดิมที่คาดว่าจะลงทุนครั้งใหญ่ครั้งเดียวในการติดตั้งแท่นหลุมผลิตและแท่นผลิตแสะสามารถดำเนินการผลิตไปได้ตลอดอายุสัมปทาน กลับกลายเป็นว่าต้องลงทุนเจาะหลุมจำนวนมาก และต้องเจาะหลุมใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อรักษาระดับการผลิตไว้ให้ได้ตามสัญญาที่ทำไว้กับภาครัฐ เนื่องจากก๊าซที่ผลิตได้จากแต่ละหลุมมีไม่มากและผลิตได้ไม่นานก็หมด นอกจากนั้น จุดที่ลึกที่สุดของแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณที่ความลึกราว 3 – 3.5 กิโลเมตร ก็ยังมีอุณหภูมิที่สูงถึงกว่า 170 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าสูงกว่าปกติเมื่อเทียบกับแหล่งอื่นๆ ทำให้ในการเจาะหลุมต้องใช้เทคนิค เครื่องมือ และอุปกรณ์พิเศษที่สามารถทำงานในอุณหภูมิสูงขนาดนั้นได้

ผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณ จึงต้องพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อทำให้การผลิตปิโตรเลียมทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำปิโตรเลียมที่มีอยู่ในแหล่งกักเก็บขนาดเล็กๆ และกระจัดกระจายนั้น ขึ้นมาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย สามารถรักษาระดับการผลิตไว้ได้อย่างต่อเนื่องตามสัญญาที่ทำไว้กับภาครัฐ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน ด้วยต้นทุนที่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์

 

พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย

 

 

นับตั้งแต่ค้นพบปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์เมื่อปี 2516 เชฟรอนได้พัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้อย่างต่อเนื่องและเหมาะสมกับสภาพทางธรณีวิทยาของอ่าวไทย เพื่อให้การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตลอดกระบวนการมีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม โดยหลายเทคโนโลยีมีที่มาจากเอราวัณ ได้กลายเป็นต้นแบบในการดำเนินงานให้กับแหล่งอื่นๆ ในอ่าวไทย

ตัวอย่างของเทคโนโลยีที่เชฟรอนพัฒนาและนำมาใช้ในอ่าวไทย อาทิ การสำรวจโดยวัดคลื่นความไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ ที่ช่วยให้การแปลผลสภาพทางธรณีวิทยาแม่นยำยิ่งขึ้น เทคโนโลยีการขุดเจาะหลุมแบบแคบ ที่เหมาะกับโครงสร้างทางธรณีวิทยาของอ่าวไทย การพัฒนาเทคโนโลยีการขุดเจาะให้ใช้เวลาสั้นลงและปลอดภัยขึ้น จากที่เคยใช้เวลา 60 วัน ในการเจาะ 1 หลุม จนเหลือเพียง 6 วัน ในปัจจุบัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เทคโนโลยีการอัดน้ำที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตกลับลงหลุมที่ผลิตหมดแล้วเพื่อจะได้ไม่ต้องทิ้งลงทะเล (Produced water reinjection) ซึ่งเป็นวิธีที่รัฐให้การยอมรับว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนำมาเป็นต้นแบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ผลิตรายอื่นๆ อีกด้วย นอกจากนั้น ยังได้นำระบบเคเบิ้ลใยแก้วใต้น้ำมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการติดต่อสื่อสารระหว่างบนฝั่งและแท่นผลิตกลางอ่าวไทย ทั้งยังช่วยให้การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น และมีโครงการจะนำเทคโนโลยีวงจรปิดเคเบิลใยแก้วมาใช้ในการบริหารแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม ซึ่งสามารถวิเคราะห์ข้อมูลหลุมผลิตได้แบบเรียลไทม์

เทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้ที่เชฟรอนนำมาใช้ ช่วยลดต้นทุนการสำรวจและผลิตลงได้ค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อบริษัทในฐานะที่เป็นบริษัทผู้รับสัมปทาน และประโยชน์ต่อรัฐที่สามารถจัดเก็บค่าภาคหลวงและภาษีปิโตรเลียม รวมทั้งโบนัสพิเศษอื่นๆ ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น

และแน่นอนว่าการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จำเป็นจะต้องมีบุคลากรที่มีคุณภาพมาควบคุมและกำกับดูแลให้เกิดการใช้งานที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ซึ่งเป็นที่น่าภูมิใจว่า ในจำนวนพนักงานคุณภาพของเชฟรอนที่มีกว่า 1,540 คนนั้น กว่าร้อยละ 96 เป็นคนไทย

ในบทความตาม ENC ลงแท่นผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ (6) จะนำเรื่องการทำงานที่มีมาตรฐานสูงด้านความปลอดภัยและการปกป้องสิ่งแวดล้อม มาเล่าให้ฟัง โปรดอย่าลืมติดตาม

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

Advertisment

- Advertisment -.