ตาม กฟผ.ไปดูระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานจากพลังงานหมุนเวียน ที่ สเปน

- Advertisment-

กฟผ.ติดตามเทคโนโลยี ระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน ทั้ง พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์  ดีเซล และ แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน  ของโครงการ  La Plana Hybrid Prototype and Test Plant  ที่เมือง Zaragoza ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2562 ที่ผ่านมา ซึ่งยังคงเป็นแค่ขั้นตอนของการทดสอบ เพื่อต่อยอดให้เกิดผลจริงในเชิงพาณิชย์  ชี้การเร่งลงทุนโดยที่เทคโนโลยียังพัฒนาไปไม่ถึงจุดอิ่มตัวในเชิงพาณิชย์ จะทำให้เกิดภาระต้นทุนที่สูงขึ้น

แผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม และระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ตั้งรวมอยู่ในบริเวณเดียวกัน

La Plana Hybrid Prototype and Test Plant ที่คณะศึกษาดูงานจากกฟผ.และสื่อมวลชน ซึ่งนำโดย นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ติดต่อเข้ามาเยี่ยมชมนั้น ถูกพัฒนาโดยบริษัท Siemens Gamesa Renewable Energy  ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของบริษัท Siemens Wind Power ประเทศเยอรมนี และ บริษัท Gamesa ประเทศสเปน ที่ผนึกความเชี่ยวชาญในโรงไฟฟ้าพลังงานลมบนฝั่ง และ นอกชายฝั่ง ของทั้งสองบริษัทเข้าด้วยกันเพื่อความแข็งแกร่งขึ้นในธุรกิจ

ตัวแทนจาก Siemens Gamesa Renewable Energy กำลังบรรยายรายละเอียดของโครงการให้กับคณะดูงานของกฟผ.

ตัวแทนของ Siemens Gamesa บรรยายให้กับคณะศึกษาดูงาน ฟังว่าการที่บริษัทต้องพัฒนาเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่ผสมผสานจากหลายแหล่งผลิต หรือ hybrid ขึ้นมานั้นก็เพื่อรองรับระบบพลังงานหมุนเวียนที่จะมีความซับซ้อนขึ้น และการเติบโตมากขึ้นในอนาคต

- Advertisment -

สำหรับรายละเอียดโครงการต้นแบบและทดสอบระบบที่เมือง Zaragoza นั้นก่อตั้งมาเมื่อปี2558  ประกอบด้วยกำลังผลิตจากพลังงานลม 850 กิโลวัตต์ แสงอาทิตย์ 245 กิโลวัตต์ เครื่องยนต์ดีเซล จำนวน 3 เครื่อง กำลังผลิตเครื่องละ 222 กิโลวัตต์ รวม 666 กิโลวัตต์และระบบกักเก็บพลังงาน Lithium Ion Battery ขนาด 429 กิโลวัตต์ (เก็บพลังงานไฟฟ้าได้ 143 กิโลวัตต์-ชั่วโมง) และแบบ Redox-Flow ขนาด 120 กิโลวัตต์ (เก็บพลังงานไฟฟ้าได้ 400 กิโลวัตต์-ชั่วโมง)

ผังระบบการผลิตของโครงการ La Plana Hybrid Prototype and Test Plant

โดยหลักการทำงานของระบบผลิตไฟฟ้าในโครงการนั้น ในช่วงที่พลังงานลม และแสงอาทิตย์ ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ หรือผลิตได้น้อย ระบบจะถูกเสริมด้วยไฟฟ้าที่มาจาก เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล และแบตเตอรี่ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้   แต่ในช่วงที่พลังงานลมและแสงอาทิตย์ผลิตได้มากเกินกว่าความต้องการ ไฟฟ้าก็จะถูกกักเก็บไว้ในระบบแบตเตอรี่  ทั้งนี้มีการสั่งการผลิตไฟฟ้าด้วย ศูนย์ควบคุม ที่เรียกว่า Hybrid  Plant Controller หรือ HPC ซึ่งเปรียบเสมือนสมองกลสำคัญของโครงการ ที่ทำหน้าที่ทั้งพยากรณ์การใช้พลังงาน ประมวลผลข้อมูล และสั่งเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ เพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แข่งขันได้กับคู่แข่ง ในการประมูลซื้อขายไฟฟ้า ตามระบบซื้อขายไฟฟ้าของสเปน ที่แตกต่างกับประเทศไทย

ปัจจุบัน บริษัท Siemens Gamesa Renewable Energy มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมดประมาณ 90,000 เมกะวัตต์ พนักงานรวมกว่า 23,000 คน และรายได้ต่อปี 9.1 พันล้านยูโร มีการดำเนินงาน 3 ส่วน คือ 1. ฟาร์มกังหันลมบนฝั่ง (on-shore) 2. ฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง (off-shore) และ 3. การให้บริการ (service)

นายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ.ที่ร่วมในคณะดูงาน อธิบายเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาความไม่เสถียรของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานลมและแสงอาทิตย์ นั้นยังอยู่ในขั้นของการทดสอบ ที่จะต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการต่อยอดเป็นเชิงพาณิชย์  โดย กฟผ.นั้นมีการติดตามความก้าวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับเรื่องของพลังงานหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา และเลือกจังหวะที่จะนำมาใช้กับโครงการของกฟผ. อย่างเหมาะสม

โดยการเดินทางมาดูงานครั้งนี้ ถือว่าได้มาดูของจริง สถานที่จริง  ทำให้มองเห็นภาพและเข้าใจสถานการณ์ได้ดีกว่า การนั่งฟังจากพรีเซนเทชั่นในห้องประชุม

ทั้งนี้การเร่งรีบที่จะลงทุนเรื่องของพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้มีความเสถียรในการผลิตไฟฟ้าด้วยวิธีผสมผสานหรือ Hybrid จากหลายแหล่งผลิตไฟฟ้า โดยที่การพัฒนาเทคโนโลยียังไม่ถึงจุดที่อิ่มตัว  จะทำให้เกิดการลงทุนที่เกินความจำเป็น และส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า ที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเป็นผู้รับภาระในที่สุด

Advertisment

- Advertisment -.