ตรึงไว้ไม่ไหว ค่าไฟเดือน ม.ค.-เม.ย.66 แนวโน้มปรับขึ้นทะลุ 5 บาทต่อหน่วย

N4032
- Advertisment-

ตรึงไว้ไม่ไหว ชี้แนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปร ( เอฟที )​ งวด ม.ค.-เม.ย.66 ต้องปรับขึ้น ทำค่าไฟเฉลี่ยรวมทะลุเกิน 5 บาทต่อหน่วย จากปริมาณก๊าซในอ่าวไทยและพม่าที่ลดลงและต้องนำเข้า LNG ราคาแพงมาทดแทน ในขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนตัว โดย กกพ.จะได้ข้อสรุปตัวเลขค่าเอฟทีภายในเดือน พ.ย.นี้ เผยตัวเลขภาระที่ กฟผ.ต้องแบกรับแทนผู้ใช้ไฟฟ้าไว้ก่อน ถึงสิ้นปีนี้กว่า 1.7 แสนล้านบาท

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการ​กำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. กล่าวว่า กกพ.จะสรุปอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที)​ งวด ม.ค.-เม.ย.66 ภายในเดือน พ.ย.65 นี้ โดยคาดการณ์แนวโน้มราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าที่ส่วนใหญ่มาจากก๊าซธรรมชาติ ช่วงดังกล่าว จะเพิ่มสูงขึ้นจากการคำนวณค่าเอฟทีงวด ก.ย.-ธ.ค 65 เนื่องจากปริมาณก๊าซในอ่าวไทย โดยเฉพาะจากแปลงG1/61 หรือแหล่งเอราวัณ ยังไม่สามารถเพิ่มปริมาณได้ตามแผน รวมทั้งก๊าซที่มาจากแหล่งยาดานา ของพม่า จะลดลงด้วย ซึ่งจะต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากตลาดจร หรือ Spot LNG ที่มีราคาสูงกว่า ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น จากที่คาดการณ์​ไว้เดิม ประกอบกับค่าเงินบาทยังอ่อนค่าลงด้วยเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

แหล่งข่าว กล่าวว่า ค่าเอฟทีอย่างน้อยจะต้องปรับขึ้นตามต้นทุนจริง ส่วนจะเป็นเท่าไหร่ และจะบวกรวมภาระที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง​ประเทศ​ไทย (กฟผ.)​แบกไว้ให้ก่อนหรือไม่นั้นจะต้องรอให้ กกพ.มีการประชุมหารือกันก่อน

- Advertisment -

สำหรับความต้องการที่จะให้มีการตรึงค่าเอฟทีเอาไว้นั้น จะขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายว่าจะให้ กฟผ.ต้องแบกรับภาระหนี้เพิ่มขึ้นไปอีกเท่าไหร่

ที่ผ่านมานโยบายรัฐบาลที่ให้มีการตรึงค่าเอฟที โดยที่มีการปรับขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนจริงนั้น ทำให้ กฟผ.ต้องแบกรับภาระค่าเอฟทีให้ประชาชนไปก่อน ตั้งแต่ งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 64 งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.65 และงวดเดือน พ.ค.- ส.ค. 65 รวมเป็นเงินกว่า 87,849 ล้านบาท ส่วนงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 ประเมินตัวเลขไว้ว่าจะเพิ่มเป็น 1.7 แสนล้านบาท (ตัวเลขจริง จนถึงเดือน พ.ย.อยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท )​ โดยภาระส่วนนี้ คณะรัฐมนตรึอนุมัติกรอบวงเงินกู้ให้ กฟผ. ประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ภาระของ กฟผ.จะเพิ่มสูงขึ้นอีก ในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 หาก กกพ. ไม่ปรับขึ้นค่าเอฟที ตามต้นทุนจริง

แหล่งข่าว กล่าวว่า กกพ.เตรียมพิจารณาเสนอแนวทางช่วยเหลือค่าเอฟที ที่จะให้ ปตท.มีส่วนร่วมแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิง เพื่อแบ่งเบาภาระของ กฟผ.ด้วย

มีการประเมินด้วยว่า แนวโน้มค่าเอฟที จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปจนถึงปี 67 เนื่องจากกลุ่มประเทศในยุโรป มีความต้องการใช้LNG ทดแทนก๊าซที่ส่งมาจากรัสเซีย ส่งผลให้ราคา Spot LNG​ ที่ไทยจำเป็นจะต้องนำเข้าเพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในปี 66 และ 67 จะยังมีความผันผวนในระดับสูง โดยเมื่อความต้องการใช้ในยุโรปลดลง เพราะผลิตไฟฟ้าได้จากแหล่งพลังงานอื่น ราคาLNG จึงจะปรับลดลง

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy​ News Center -​ENC )​ รายงานว่า การพิจารณาค่าเอฟที ในรอบเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมานั้นปรับเพิ่ม 68.66 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีทั้งสิ้น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย  ซึ่งสำหรับเดือน ม.ค.-เม.ย.66 หากปรับขึ้นตามต้นทุนจริง ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยโดยรวมจะพุ่งเกิน 5 บาทต่อหน่วย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและประเทศยูเครนที่ยังไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกมีความผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2565 โดยขอความร่วมมือในการประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยหากราคาSpot LNG สูงเกิน 50 เหรียญ​สหรัฐ​ต่อล้านบีทียู ต่อเนื่องกัน 14 วัน จะมีการออกมาตรการประหยัดพลังงานในหลายๆมาตรการให้เป็นมาตรการบังคับ เพื่อให้การประหยัดพลังงานในช่วงที่พลังงานมีราคาแพง ได้ผลในทางปฏิบัติ​

Advertisment

- Advertisment -.