ชี้แผนพลังงานทดแทนใหม่ (AEDP2018)ไม่อุดหนุนค่าไฟ พลังงานแสงอาทิตย์ ลม และชีวมวล

- Advertisment-

แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ฉบับใหม่ (AEDP2018) ที่ปรับให้สอดคล้องกับแผน PDP2018  เน้นรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวลและพลังงานลม แต่ไม่มีการอุดหนุน โดยใช้ราคารับซื้ออ้างอิงเฉลี่ยไม่สูงกว่า 2.44บาทต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่ต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าในส่วนของค่า เอฟที เหมือนที่ผ่านมา ในขณะที่ไฟฟ้าจากขยะชุมชน400เมกะวัตต์ ให้Feed in Tariff ที่3.66บาทต่อหน่วยสำหรับเอสพีพี ส่วน วีเอสพีพี ได้5.08บาทต่อหน่วย (บวกพรีเมี่ยมอีก70สตางค์ ต่อหน่วย 8ปีแรก)

นายยงยุทธ จันทรโรทัย  อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (AEDP2018) ที่ พพ. อยู่ในระหว่างการจัดทำให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018)  จะไม่มีการอุดหนุนราคาค่าไฟฟ้าในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์  พลังงานลม และ ชีวมวล ในรูปของส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าหรือAdder หรือ Feed in Tariff – FiT เหมือนเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากต้นทุนการผลิตได้ปรับลดลงมามากแล้ว

โดยการส่งเสริม จะมีเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากขยะ ในปริมาณ 400เมกะวัตต์ในรูปของFeed in Tariff ที่อัตรา 3.66บาทต่อหน่วยสำหรับโรงไฟฟ้าจากขยะที่เป็น เอสพีพี(10-90เมกะวัตต์)  ส่วนโรงไฟฟ้าขยะขนาดเล็กมาก หรือ วีเอสพีพี (ต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์) จะรับซื้อ ราคา5.08บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา20ปี บวกพรีเมี่ยมอีก0.70บาทต่อหน่วย ในระยะ8ปีแรก ที่จ่ายไฟเข้าระบบ   ซึ่งในรายละเอียดการเปิดรับซื้อจะเป็นอย่างไรนั้น ทางกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้ดำเนินการ

- Advertisment -

นายยงยุทธ กล่าวว่า  แผน AEDP2018จะมีการปรับเป้าหมายให้สูงขึ้นจากแผน AEDP2015 ตัวอย่างเช่น
• พลังงานแสงอาทิตย์ตามแผนเดิม ณ ปี 2579 จะติดตั้งให้ได้รวม 6,000 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2560 ดำเนินการแล้ว 2,849 เมกะวัตต์ แต่ในแผนใหม่จะติดตั้งระหว่างปี 2561 – 2580 อีก 12,725 เมกะวัตต์ (โซล่าร์รู๊ฟท๊อปกับโซล่าร์แบบทุ่นลอยน้ำ) รวมมีเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2580 อยู่ที่ 15,574 เมกะวัตต์

• พลังงานชีวมวล แผนเดิมอยู่ที่ 5,570 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2560 ดำเนินการแล้ว 2,290 เมกะวัตต์ มีแผนจะติดตั้งระหว่างปี 2561 – 2580 อีก 3,496 เมกะวัตต์รวมมีเป้าหมาย ณ  สิ้นปี 2580 อยู่ที่ 5,786  เมกะวัตต์

พลังงานลม แผนเดิมอยู่ที่ 3,002เมกะวัตต์  ณ สิ้นปี 2560 ดำเนินการแล้ว 1,504เมกะวัตต์  มีแผนจะติดตั้งระหว่างปี 2561 – 2580 อีก 1,485 เมกะวัตต์รวมมีเป้าหมาย ณ  สิ้นปี 2580 อยู่ที่ 2,989เมกะวัตต์

ไฟฟ้าจากขยะชุมชนแผนเดิมอยู่ที่ 500 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2560 ดำเนินการแล้ว 500 เมกะวัตต์ มีแผนจะติดตั้งระหว่างปี 2561 – 2580 อีก 400 เมกะวัตต์ รวมมีเป้าหมาย ณ  สิ้นปี 2580 อยู่ที่ 900 เมกะวัตต์

นายยงยุทธ กล่าวด้วยว่า แผนAEDP2018 จะไม่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำขนาดเล็กและ พลังน้ำขนาดใหญ่ของกฟผ. เนื่องจากไม่มีพื้นที่ในการดำเนินการแล้ว รวมทั้ง ไม่มีการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน) ที่แผนเดิมมีการบรรจุไว้ จำนวน 680เมกะวัตต์เนื่องจากยังมีปัญหาด้านเทคนิคในการนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า

ทั้งนี้ในภาพรวมแผนAEDP2018มีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวม 29,358 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากแผนเดิมที่มีการผลิต 19,684 เมกะวัตต์หรือเพิ่มขึ้น 9,674 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น13%

สำหรับขั้นตอนการจัดทำแผน AEDP2018 นั้นทาง พพ. อยู่ระหว่างเตรียมพร้อมจัดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั่วประเทศ คาดว่าในเดือนสิงหาคม 2562 จะเริ่มดำเนินการได้

วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผอ.สนพ.

ด้านนายวัฒนพงษ์  คุโรวาท  ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน  กล่าวว่า ในภาพรวมแผนAEDP2018 กำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยอ้างอิงราคาต้นทุน ที่2.44บาทต่อหน่วย (ยกเว้นไฟฟ้าจากขยะชุมชน) ซึ่งต่ำกว่าราคาขายส่งของกฟผ.ที่เฉลี่ยอยู่ที่ ประมาณ2.80-2.90บาทต่อหน่วย ดังนั้นจึงไม่มีผลให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้า (ค่าเอฟที) จากการส่งเสริมไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเหมือนที่ผ่านมา

Advertisment

- Advertisment -.