ชี้เอกชนกดดันรัฐสำเร็จ ได้ค่าไฟจูงใจลงทุนโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ รอ กพช.อนุมัติพรุ่งนี้

- Advertisment-

ในที่สุดเอกชนผู้ลงทุนโรงไฟฟ้าขยะชุมชนก็สามารถกดดันให้รัฐกำหนดอัตราการส่งเสริมค่าไฟฟ้าในระบบ Feed in Tariff หรือ FiT ที่จูงใจการลงทุนแต่สร้างภาระค่าไฟให้ประชาชน สำหรับโควต้ารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน ปริมาณ 400 เมกะวัตต์ โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)​ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 1 พ.ย.64 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบ FiT ในอัตราเดิมคือ SPP ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี และ VSPPอัตรา 5.78-6.52 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี (FiTพรีเมี่ยม 70 สตางค์ ให้เฉพาะช่วง 8 ปีแรก)​ รอเพียงที่ประชุม กพช. เห็นชอบพรุ่งนี้ ( 5 พ.ย.64)​

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center -​ENC )​ รายงานว่า FiT ที่ผู้ลงทุนโรงไฟฟ้าขยะจะได้รับในอัตราเดิม คือ ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ( VSPP)​ กำลังผลิตไฟฟ้า ต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ และทำสัญญาซื้อขายกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)​ จะได้รับFiT อัตรา 5.78-6.52 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี (FiTพรีเมี่ยม 70 สตางค์ ให้เฉพาะช่วง 8 ปีแรก)​

ส่วนผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ( SPP)​ กำลังการผลิตมากกว่า 10 เมกะวัตต์ จะอยู่ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี

- Advertisment -

ทั้งนี้อัตราFiTถือเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ซึ่งหาก กพช.เห็นชอบอัตราดังกล่าว จะทำให้ โครงการของเอกชนที่ได้สิทธิ์ขายไฟฟ้าจะมีผลตอบแทนการลงทุนที่สูงขึ้นมาก เพราะนอกจากจะมีรายได้จากค่ากำจัดขยะ หรือTipping Fee แล้ว ผู้ลงทุนยังมีรายได้เพิ่มจากการนำขยะมาเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าขายเข้าระบบโดยได้FiTในอัตราที่จูงใจเป็นอย่างมากด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐกำหนดอัตราFiTให้ผู้ลงทุนที่สูงเกินไปก็จะเป็นการสร้างภาระต้นทุนให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในระบบ

ที่ผ่านมาโควต้าการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ล็อตใหม่ 400 เมกะวัตต์ ที่เพิ่มขึ้นมาจากล็อตแรก 500 เมกะวัตต์ที่จบโครงการไปแล้ว มีความล่าช้าไปจากแผนที่ควรจะรับซื้อได้ภายในปี64 เพราะกระทรวงพลังงาน คำนวณอัตราFiTออกมาในอัตราที่ต่ำกว่า 2 บาทต่อหน่วย ซึ่งทำให้เอกชนผู้ลงทุนไม่พอใจ และพยายามที่จะกดดันให้ได้ FiT ในอัตราเดิม ซึ่งการที่ กบง.เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 64 เห็นชอบ FiTอัตราเท่าเดิม อาจมองได้ว่า เป็นเพราะเอกชนกดดันภาครัฐได้สำเร็จ และทำให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้ากลายเป็นผู้รับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

สำหรับเอกชนผู้ลงทุนที่เตรียมเสนอขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบและจะได้รับFiTในอัตราที่ กพช.จะให้ความเห็นชอบ วันพรุ่งนี้ ( 5 พ.ย.64 )​
อาทิ โครงการประเภท SPP 3 โครงการซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือแจ้งยืนยันเข้ามาแล้วคือ โครงการกำจัดมูลฝอยด้วยระบบเตาเผาขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม กำลังผลิตติดตั้ง 30 เมกะวัตต์ และ โครงการกำจัดมูลฝอยด้วยระบบเตาเผาขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช กำลังผลิตติดตั้ง 30 เมกะวัตต์ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เห็นชอบตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 และ กทม.เซ็นสัญญาให้สัมปทานกับ บริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (ประเทศไทย) ที่มีบริษัทแม่อยู่ที่ประเทศจีน

โครงการสร้างระบบการจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF ของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช กำลังผลิตติดตั้ง 19.8 เมกะวัตต์

ส่วนประเภท VSPP มีผู้ลงทุนจองโควต้าไว้แล้วในลิสต์ของ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือ สถ. จำนวน 26 โครงการ ปริมาณรวม 187 เมกะวัตต์ ซึ่งเอกชนที่มีโครงการอยู่ในมือมากที่สุดคือ บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด จำนวน 8 โครงการกำลังการผลิตรวม 52.7เมกะวัตต์ รองลงมาคือกลุ่มเมโทร เอ็นเนอยี่ 3 โครงการ กำลังการผลิต รวม 23.2 เมกะวัตต์ กลุ่มบริษัทท่าฉาง อุตสาหกรรม 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 22 เมกะวัตต์

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หาก กพช.ให้ความเห็นชอบตามมติ กบง. ขั้นตอนต่อไปคือการนำเสนอมติ กพช.ให้ คณะรัฐมนตรี​ให้ความเห็นชอบ จากนั้น ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.จะเป็นผู้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า เพื่อให้เอกชนที่เตรียมความพร้อมโครงการเอาไว้ล่วงหน้าเสนอโครงการเพื่อขายไฟฟ้าเข้าระบบ ให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฏหมาย

Advertisment

- Advertisment -.