ชงโมเดลลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน เข้า กพช.กลางเดือนธ.ค.นี้ หวังเห็นผลงานเป็นรูปธรรมปี63

- Advertisment-

กระทรวงพลังงานชง 8เรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่จะประชุมราวกลางเดือนธ.ค.2562 นี้ เน้นโมเดลการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน  การปรับปรุงหลักเกณฑ์การใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ให้สามารถขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างผลงานได้ภายในปี2563 ในขณะที่การปรับปรุงแผนPDP2018 ขยับไปเข้า กพช.ครั้งถัดไป เดือนก.พ. 2563

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมแผนขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน(Policy Quick Start)ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2562 ว่า โมเดลการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนในส่วนของหลักเกณฑ์และรายละเอียดต่างๆ นั้นทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) จะสรุปและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ในวันที่ 4 ธ.ค. 2562 นี้ ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประมาณกลางเดือนธ.ค. 2562 จากนั้นจะมีการออกประกาศหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการ และเริ่มดำเนินการได้ในปี2563

ทั้งนี้ กบง.เมื่อวันที่21 ต.ค.2562 ที่ประชุม กบง. ได้หารือรูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชนตามกรอบนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก มีทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. เป็นการลงทุนโดยภาคเอกชน หรือบริษัทลูกของการไฟฟ้าที่มีความพร้อมอยู่แล้ว 2. เป็นการลงทุนเพื่อความมั่นคงในพื้นที่ปลายสาย หรือไฟฟ้าเข้าไม่ถึง โดยอาจจะพิจารณานำเงินลงทุนมาจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กองทุนพัฒนาไฟฟ้า หรือรูปแบบ CSR จากภาคเอกชนต่างๆ และ3. เป็นการลงทุนเพื่อนำของเสียมาจัดการให้เป็นประโยชน์เชิงพลังงาน เช่น ขยะ  โดยมอบให้ พพ.และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ร่วมกันจัดทำรูปแบบรายละเอียดมาเสนอ

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC ) รายงานว่า นอกเหนือจากเรื่องโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะนำเสนอให้กพช.พิจารณาอนุมัติแล้ว ยังมีวาระอื่นๆที่น่าสนใจอีก 7เรื่อง ได้แก่ 1. การปรับปรุงหลักเกณฑ์การใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่มีการปรับลดกรอบวงเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2563-2567) เหลือ 50,000 ล้านบาท แบ่งการใช้จ่ายเป็นปีละ 10,000 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิมช่วงปี 2560-2564 อยู่ที่ 60,000 ล้านบาท และการปรับลดสัดส่วนเงินสำหรับโครงการที่เกี่ยวกับแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานลงจาก 67% เหลือ 50% และไปเพิ่มวงเงินสำหรับโครงการที่เกี่ยวกับแผนพลังงานทดแทนจากเดิม 30% เป็น 47% ในขณะที่สัดส่วนวงเงินด้านแผนบริหารจัดการกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ ยังอยู่เท่าเดิมที่ 3%

2.เรื่องแผนยุทธศาสตร์สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน ที่มีเป้าหมายจะลดการอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ และลดประเภทของน้ำมันลง เหลือน้ำมันพื้นฐาน2ประเภทคือ ดีเซลB10 และแก๊สโซฮอล์E20

3.เรื่องSpot LNG ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่กบง.ได้รับทราบแนวทางการทดลองนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) แบบ Spot จำนวน 2 ลำเรือ ลำเรือละ 65,000 ตัน และช่วงเวลาการนำเข้าที่เหมาะสมลำแรกประมาณเดือนธันวาคม 2562 และลำที่ 2 ประมาณเดือนเมษายน 2563  รวมทั้งการเสนอแนวทางส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาค(LNG Hub)

4.การแก้ไขปัญหาผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP)ประเภท ชีวมวล  ตามที่กบง.เคยให้ความเห็นชอบ ที่ให้SPP ชีวมวล สามารถสมัครใจเลือก อยู่ในรูปแบบสัญญาเดิมต่อไปตามเงื่อนไขเดิม หรือให้สามารถเลือกที่จะเปลี่ยนรูปแบบเป็น Feed in Tariff- FiT ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยได้คำนึงถึงผลกระทบภาระค่าไฟฟ้าต่อผู้ใช้ไฟฟ้าของประเทศในภาพรวม รวมทั้งผลกระทบต่อเนื่องที่อาจเกิดขึ้นกับ SPP  ชีวมวลแบบ FiT (โครงการ SPP Hybrid Firm) ที่ได้มีการประกาศรับซื้อและดำเนินการคัดเลือกเมื่อปี 2560 โดยวิธี Competitive Bidding ควบคู่กันไปด้วยแล้ว

5.LTM ระยะที่2  คือการขยายสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 2 ปี และเพิ่มปริมาณการซื้อขายสูงสุดเป็น 300 เมกะวัตต์ (MW) จากเดิม 100 เมกะวัตต์ ระหว่าง สปป.ลาว ไทย และมาเลเซีย (Lao PDR, Thailand, Malaysia – Power Integration Project : LTM – PIP)ที่เป็นเรื่องสืบเนื่องจากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 37 และ การประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meeting : 37th AMEM) ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทย

6.เรื่องการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ที่มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันโดยมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เพื่อพิจารณาโครงสร้างราคาให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม กับผู้บริโภค และ 7. วาระการเสนอตั้งคณะกรรมการ ESS (Energy Storage System Committee)

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับเรื่องการนำเข้าLNG1.5 ล้านตันต่อปีของกฟผ. การปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือPDP2018 รวมทั้งการปรับปรุงแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ  (Gas Plan)  แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง(Oil Plan)  แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) และแผนอนุรักษ์พลังงาน (EE) คาดว่าจะสามารถนำเสนอให้ที่ประชุม กพช.พิจารณาได้ในช่วงเดือนก.พ. 2563

ภาพบรรยากาศในห้องประชุม Policy Quick Start ที่มี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีพลังงานเป็นประธาน

 

Advertisment

- Advertisment -.