จ้างสถาบันปิโตรเลียมศึกษายกเลิกอุดหนุนราคาน้ำมันชีวภาพ ทั้งE20 E85 B10 B20

- Advertisment-

สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน(องค์การมหาชน) หรือ สบพน. จ้างสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(PTIT) ศึกษาแนวทางเลิกชดเชยราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งแก๊สโซฮอล์E20 E85 ไบโอดีเซลB10 B20  ภายใน3 ปี เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ที่ออกมาใหม่ โดยผลการศึกษาจะเสร็จภายในเดือน ก.ย. 2562 นี้  ก่อนเสนอบอร์ดใหม่ของกองทุนฯพิจารณา ระบุ 24 ก.ย. 2562 จะมีการยุบ สบพน. และจัดตั้ง สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ขึ้นมาทำหน้าที่แทน 

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน(องค์การมหาชน) หรือ สบพน. เปิดเผยว่า สบพน. ได้ว่าจ้างสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(PTIT) ศึกษาแนวทางยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อให้เป็นไปตามพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งในพ.ร.บ.กองทุนฯดังกล่าว จะไม่สามารถนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพได้ในทุกกรณี เพราะจะผิดวัตถุประสงค์ที่กำหนดว่า “เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (รวมถึงก๊าซหุงต้ม หรือ LPG และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือ NGV)ในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น”

โดยปัจจุบันรัฐมีการนำเงินกองทุนน้ำมันฯไปอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งได้แก่  แก๊สโซฮอล์ E20 ในอัตรา0.78 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ E 85 ในอัตรา 6.38 บาท ต่อลิตร ไบโอดีเซล B10 ในอัตรา0.65บาทต่อลิตร และไบโอดีเซลB 20 ในอัตรา4.50 บาท ต่อลิตร

- Advertisment -

ทั้งนี้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 กำหนดให้ “สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง”(อยู่ระหว่างจัดตั้งขึ้น) วางแผนงานระยะ 3 ปีสำหรับยกเลิกการนำเงินกองทุนฯ ไปชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยหากยังดำเนินการไม่สำเร็จสามารถต่ออายุแผนดังกล่าวได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี รวมแล้วมีระยะเวลาดำเนินการยกเลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ 7 ปี

นอกจากนี้หลังจาก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2562 ทาง สบพน. มีเวลา 120 วัน(24 ก.ย. 2562) ที่ต้องดำเนินการด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เสร็จอย่างต่ำ 16 ฉบับ  รวมถึงการยกเลิกหน่วยงาน สบพน. ในวันที่ 24 ก.ย. 2562และตั้งสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นมาแทน โดยต้องโอนย้ายทั้งบุคคลากรและเงินในกองทุนน้ำมันฯ มาอยู่ภายใต้สำนักงานกองทุนฯ ทันทีในวันดังกล่าว

ปัจจุบันเงินกองทุนน้ำมันฯ มีเงินอยู่ 34,826 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีกองทุน LPG ติดลบประมาณ 6,000 ล้านบาท และบัญชีน้ำมัน 41,435 ล้านบาท แต่ บัญชี LPG เริ่มมีเงินไหลเข้าเดือนละ 29.4 ล้านบาทต่อเดือน เนื่องจากราคา LPGในตลาดโลกเริ่มปรับราคาลงตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา

ภายใต้พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 มีการจำกัดวงเงินว่าจะมีเงินเก็บสะสมไว้ได้ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท  และหากเงินหมดจะสามารถกู้ได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท โดยการขอกู้เงิน จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อออกกฎหมายรองรับก่อนเท่านั้น

ตามพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ ยังกำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการ(บอร์ด)บริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีทั้งหมด 15 คน โดย 11 คน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ส่วนอีก 4 คน เป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่จะต้องดำเนินการสรรหาตามกฎหมายที่กำหนดไว้ว่าต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นคือ ความรู้ด้านการเงินและน้ำมัน

Advertisment

- Advertisment -.