ขอเลื่อนผลศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ ยาวไปถึงสิ้นปี2563

- Advertisment-

นิด้า ขอเลื่อนผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์โรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ยาวไปถึงปลายปี 2563 จากเริ่มแรกที่คาดว่าจะใช้เวลาศึกษา9เดือนและควรจะเสร็จตั้งแต่ เดือน ก.ย.2562  ที่ผ่านมา

นายมนูญ ศิริวรรณ คณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ กล่าวว่า คณะกรรมการจะมีการประชุมเพื่อให้ ศูนย์บริการวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เลื่อน ระยะเวลาการส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ “โครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้  ในเร็วๆนี้

นับเป็นการขอเลื่อนครั้งที่ 2 จากเดิม ที่อนุมัติให้เลื่อนจากเดือนก.ย.2562 เป็นประมาณ เม.ย.2563  ซึ่งทางนิด้า ขอเลื่อนไปอีกเป็นช่วงปลายปี 2563  โดยในเดือนเม.ย. 2563 จะรู้เพียงผลในเบื้องต้นเท่านั้น ว่า จังหวัดสงขลา และภูเก็ตมีความเหมาะสมที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ส่วนรายงานฉบับสมบูรณ์จะต้องสรุปในภาพรวมว่า พื้นที่ภาคใต้มีความเหมาะสมที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ถ้ามีความเหมาะสม ควรจะต้องสร้างที่ใด และควรมีจำนวนกี่โรง

- Advertisment -

โดยเหตุผลที่ต้องมีการเลื่อนระยะเวลาส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ ออกไปเนื่องจากคณะกรรมการ SEA เห็นว่า การนำเสนอรายงานเบื้องต้นของนิด้าเมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องหรือ สารเสวนานั้น ยังมีข้อมูลไม่ชัดเจนจึงให้กลับไปปรับปรุงรายงานใหม่ นอกจากนี้ นิด้าจะต้องจัดทำสารเสวนาให้ครบ 4 ครั้ง โดยจะต้องจัดทำสารเสวนา รอบ 2 ใน 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สุราษฎร์ธานี และกระบี่ ในเร็วๆนี้ โดยรอบสุดท้ายจะจัดขึ้นที่ กรุงเทพฯ ซึ่งจะเชิญแกนนำทั้งฝ่ายที่ต้องการให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินและฝ่ายที่เห็นต่างมาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น

ทั้งนี้การสารเสวนาทั้ง 4 ครั้งนั้น จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้ โดยในเดือนเม.ย. 2563 ผลการศึกษาจะสรุปเพียงว่าจังหวัดกระบี่และสงขลา ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่เท่านั้น

ส่วนรายงานฉบับสมบูรณ์ ที่คาดว่าจะเสร็จปลายปี 2563 และนำเสนอต่อคณะกรรมการ SEA นั้นจะส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณาให้ความเห็นต่อไป

สำหรับการจัดทำรายงานดังกล่าว ปัจจุบันคืบหน้าไปแล้ว 40% โดยหากผลการศึกษาฯ พบว่าต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ จะนำไปสู่การปรับให้มีการบรรจุในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือแผน PDP  ต่อไป

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า   คณะกรรมการ SEA ได้ว่าจ้าง นิด้า เมื่อเดือน ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา  ในงบประมาณ 50 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า  ตามนโยบายของนาย ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีพลังงาน ในช่วงนั้น ซึ่งในตอนแรก ระบุระยะเวลาการศึกษาจนส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ ภายใน9เดือน และต้องได้คำตอบว่าภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ภายใน 5 เดือน หลังการลงนาม หรือภายในเดือน พ.ค.2562   แต่ล่วงมาจนถึงขณะนี้ สังคมก็ยังไม่รู้ผลว่า พื้นที่ภาคใต้จังหวัดใดมีความเหมาะสมจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตามผลการศึกษาหรือไม่

Advertisment

- Advertisment -.