ครม. อนุมัติงบฯ กลางปี 2565 กว่า 2.9 พันล้านบาทหนุนการใช้รถยนต์และมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รวม 26,900 คัน

ขอบคุณภาพจาก ปตท.
- Advertisment-

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง จำนวน 2,923.397 ล้านบาท ให้ดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวม 26,900 คัน เพื่อจูงใจให้เกิดความต้องการซื้อและสร้างแรงจูงใจให้มีการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบ BEV เพิ่มขึ้น

เว็บไซต์รัฐบาลไทย www.thaigov.go.th เปิดเผยผลการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ) จำนวน 2,923.397 ล้านบาท และ รับทราบแนวทางการดำเนินงานตามประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ประกาศ ณ วันที่ 21 มีนาคม 2565

โดย ครม. ได้ให้ความเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนให้ราคาของรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) ลดลงใกล้เคียงกับราคารถยนต์และรถจักรยานยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความต้องการซื้อและสร้างแรงจูงใจให้มีการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) เพิ่มขึ้นเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับสิทธิในส่วนของมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ ดังกล่าว รวมถึงบทลงโทษในกรณีที่ผู้ขอรับสิทธิไม่สามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไข เพื่อให้เงินอุดหนุนและส่วนลดทางภาษีต่าง ๆ ตกสู่ประชาชนอย่างแท้จริง
ขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ ที่ผู้ขอเข้าร่วม (ผู้ขอรับสิทธิ) ตามมาตรการจะต้องดำเนินการเพื่อขอรับเงินอุดหนุนสรุปได้ ดังนี้

- Advertisment -
  • ผู้ขอเข้าร่วมมาตรการต้องเป็นบุคคลตามประกาศกรมสรรพสามิตข้างต้น กำหนด เช่น ผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่มีโรงงานอุตสาหกรรม ผู้นำเข้าที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เป็นต้น และต้องเข้ามาทำข้อตกลงร่วมกับกรมสรรพสามิต เพื่อรับทราบและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตกำหนด และยอมรับบทลงโทษหากไม่สามารถดำเนินการได้
  • ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องยื่นขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าของตนเองเป็นรายรุ่น เพื่อให้กรมสรรพสามิตพิจารณาโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำก่อนและหลังรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ เพื่อให้ราคาขายปลีกแนะนำสำหรับยานยนต์รุ่นดังกล่าวสะท้อนถึงส่วนลดต่าง ๆ ที่ภาครัฐมอบให้ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ
  • เมื่อผู้เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นที่ได้รับสิทธิให้แก่ผู้บริโภคเรียบร้อยแล้ว จะต้องดำเนินการรวบรวมเอกสารหลักฐานการจำหน่ายและการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าคันดังกล่าว เพื่อส่งให้กรมสรรพสามิตเป็นรายไตรมาส เพื่อให้กรมสรรพสามิตดำเนินการพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินอุดหนุนต่อไป
  • กรมสรรพสามิตดำเนินการรวบรวมเอกสารหลักฐานพร้อมประเมินเงินอุดหนุนทั้งหมดในไตรมาสนั้น ๆ เพื่อดำเนินการอนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณหากได้รับการอนุมัติ ก็จะดำเนินการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ผู้รับสิทธิต่อไป

ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการไม่ดำเนินการผลิตรถยนต์นั่งรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถจักรยานยนต์ แล้วแต่กรณี เพื่อชดเชยการนำเข้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด กรมสรรพสามิตจะเรียกคืนเงินอุดหนุนดังกล่าวจากผู้ได้รับเงินอุดหนุนเป็นรายคันตามจำนวนที่ไม่สามารถดำเนินการผลิตชดเชยได้ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยไม่คิดทบต้น และจะบังคับตามหนังสือสัญญาค้ำประกันโดยธนาคารที่วางไว้

การให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ได้รับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์จำนวนเงินอุดหนุน (บาท/คัน)
1.กรณีรถยนต์นั่ง หรือ รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท
1.1) สำหรับรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมงแต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง
1.2) สำหรับรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป

 
70,000
 
150,000
2. กรณีรถยนต์กระบะประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศและมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป (เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น)150,000
3. กรณีรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท18,000

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีผู้ได้รับสิทธิที่ต้องได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ จำนวน 5 ราย แบ่งเป็นรถยนต์ จำนวน 18,100 คัน และรถจักรยานยนต์ จำนวน 8,800 คัน โดยผู้ได้รับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ จำนวน 5 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์ จำนวน 4 ราย ได้แก่ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด (MG) บริษัท เกรทวอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (GWM) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (TOYOTA) บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด (NETA) และผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ จำนวน 1 ราย ได้แก่ บริษัท เตโก้ กรีน เอนเนอร์จี จำกัด (Deco Green) 

โดยมีแผนการใช้ง่ายงบประมาณ พ.ศ. 2565 สรุปได้ ดังนี้

แผนการใช้จ่ายงบประมาณ พ.ศ. 2565จำนวนเงิน (ล้านบาท)
1. เงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ2,873.400
   1.1 รถยนต์ (18,100 คัน x เงินอุดหนุนคันละ 150,000 บาท)2,715.000
   1.2 รถจักรยานยนต์ (8,800 คัน x เงินอุดหนุนคันละ 18,000 บาท)158.400
2. เงินสำหรับโครงการออกแบบและพัฒนาระบบการบริหารจัดการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ49.997
รวมทั้งสิ้น2,923.397

Advertisment

- Advertisment -.