ครม.ตั้ง “กุลิศ” เป็นประธานบอร์ดกฟผ. หลังว่างเว้นมา3เดือน

- Advertisment-

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้งให้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป  ซึ่งจะมีผลทำให้คณะกรรมการกฟผ.สามารถจัดการประชุมได้ตามปกติหลังจากที่ว่างเว้นมาตั้งแต่วันที่15กรกฎาคม2562 หรือกว่า3เดือน ที่นายดิสทัต โหตระกิตย์ ลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดกฟผ.

 ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่าที่ประชุม คณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 15 ต.ค. 2562 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ แต่งตั้งนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกรรมการ(บอร์ด)การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15ต.ค.2562 โดยในช่วงเช้าของวันเดียวกันเวลา 8.50  น.บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทัพย์แห่งประเทศไทย(ต.ล.ท.)ว่า นายกุลิศ สมบัติศิริ กรรมการและกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร ได้แจ้งลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ปตท. เนื่องจากมีภารกิจอื่น โดยการลาออกให้มีผลตั้งแต่ 9ต.ค.2562 เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  การที่ครม.ตั้งนายกุลิศ เป็นประธานบอร์ดกฟผ.คนใหม่ จะทำให้ บอร์ดกฟผ. สามารถที่จะจัดการประชุมเพื่ออนุมัติโครงการต่างๆของกฟผ.ได้ตามปกติ หลังจากที่ว่างเว้นมาตั้งแต่วันที่15กรกฎาคม2562 หรือกว่า3เดือน ที่นายดิสทัต โหตระกิตย์ ลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดกฟผ  ซึ่งทำให้ไม่ครบองค์ประชุม

- Advertisment -

ทั้งนี้ยังมีตำแหน่ง กรรมการในบอร์ดกฟผ.ว่างอยู่อีก1ตำแหน่ง แทนนายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ ที่ลาออกจากกรรมการพร้อมกับนายดิสฑัต ที่ยังไม่ได้มีการเสนอครม.แต่งตั้งบุคคลที่จะมานั่งในตำแหน่งแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายกุลิศ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า หลังจากครม.แต่งตั้งเป็นประธานบอร์ด กฟผ. แล้ว จะมีการนัดประชุมเพื่อพิจารณาในหลายเรื่อง ทั้งการนำเข้าLNG แบบคลังลอยน้ำ(FSRU) การส่งเสริมติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อน 2,725 เมกะวัตต์ รวมไปถึงแนวทางการสร้างรายได้เพิ่มให้กับ กฟผ.ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเบื้องต้น อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมให้ กฟผ. จัดตั้งบริษัทลูก เพื่อดำเนินธุรกิจซื้อมาขายไป หรือ เทรดดิ้งไฟฟ้า

ส่วนในระดับอาเซียน จะต้องดำเนินการเป็นตัวกลางรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว เพื่อส่งไปขายยังประเทศอื่นที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า และการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับ กฟผ. ระยะสั้นการจัดตั้งบริษัทเทรดดิ้งไฟฟ้าจะสามารถดำเนินการได้ เพราะไม่ติดขัดด้านกฎหมาย

สำหรับระยะยาว มีแผนที่จะส่งเสริมให้ กฟผ.จัดตั้งบริษัทเทรดดิ้ง LNG ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย (พ.ร.บ. กฟผ.) พ.ศ. 2511 เพื่อปลดล็อกให้ กฟผ.สามารถนำ LNG ส่วนที่เหลือใช้ไปขายต่อได้ เนื่องจากปัจจุบันนั้น กฎหมายกำหนดให้ กฟผ.สามารถนำเข้าLNG มาเพื่อให้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าภายในโรงไฟฟ้าของ กฟผ.เท่านั้น จึงไม่สามารถนำส่วนที่เหลือใช้ไปขายต่อได้

Advertisment

- Advertisment -.