- Advertisment-

“เราผลิตน้ำมันได้ไม่พอใช้ แต่ทำไมถึงส่งออก?” หรือ “เราผลิตน้ำมันเองได้ แต่ทำไมประชาชนต้องใช้น้ำมันราคาแพง” ประเด็นนี้มักถูกหยิบขึ้นมาตั้งคำถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสมอ โดยเฉพาะในช่วงราคาน้ำมันแพง

ความเป็นจริง ไทยถือเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน แม้เราผลิตน้ำมันเองได้ แต่เป็นส่วนน้อย ข้อมูลล่าสุดเดือนกันยายน 2564 ไทยผลิตน้ำมันดิบได้ 100,874 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศ อยู่ที่ประมาณ 2,016,000 บาร์เรลต่อวัน ที่เหลือจึงต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศมาผลิตเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ

ทั้งนี้ อาจมีข้อสงสัยต่อไปว่าประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบในปริมาณสูง แต่ทำไมจึงมีการส่งออกน้ำมันดิบด้วย ซึ่งการที่ประเทศไทยมีการส่งออกน้ำมันดิบนั้น เนื่องจากสาเหตุหลัก ๆ คือ

- Advertisment -

1. น้ำมันดิบไม่เหมาะสมกับเทคโนโลยีของโรงกลั่น : น้ำมันดิบในประเทศที่ผลิตได้บางส่วนมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมกับโรงกลั่นในประเทศ มีสารโลหะหนัก เช่น สารปรอท สารหนู ค่อนข้างสูง โดยหากโรงกลั่นรับซื้อน้ำมันดิบส่วนนี้ไป จะเป็นการเพิ่มต้นทุนการกลั่นและค่าปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันให้เหมาะสม และจะทำให้ราคาจำหน่ายน้ำมันเพิ่มขึ้น นับว่าไม่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ เพราะใช้เงินลงทุนสูงแต่ได้ผลตอบแทนต่ำ

2. น้ำมันดิบที่ผลิตได้ในประเทศมีลักษณะเบา เมื่อนำมากลั่นแล้วมีลักษณะไม่เหมาะกับความต้องการใช้ของคนในประเทศ โดยประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำมันดีเซลมากกว่าน้ำมันเบนซิน จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 พบว่าปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลอยู่ที่ประมาณ 61.1 ล้านลิตรต่อวัน  ในขณะที่การใช้น้ำมันเบนซินอยู่ที่ประมาณ 28.4 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนที่เกินจากความต้องการใช้ในประเทศ จึงมีการส่งออก

ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องส่งออก กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล จะพิจารณาเฉพาะส่วนที่จำเป็นจริง ๆ โดยการส่งออกน้ำมันดิบ (ขาย) จะเป็นการสร้างมูลค่าของน้ำมันดิบที่ไม่ตรงกับความต้องการของปริมาณการใช้ในประเทศได้มากกว่า เพื่อนำเงินตราเข้าประเทศไปนำเข้าน้ำมันดิบ (ซื้อ) ในราคาที่ต่ำกว่า ทำให้ประเทศได้ค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่สูงขึ้นและลดผลต่างวงเงินสำหรับการนำเข้าน้ำมันดิบมาใช้ในประเทศในภาพรวม (ขายของแพง ซื้อของถูกมาใช้)

การที่กล่าวว่าประเทศไทยผลิตน้ำมันเองได้เยอะ แต่คนไทยยังใช้น้ำมันราคาแพง จึงไม่เป็นความจริงเพราะเรายังไม่สามารถผลิตน้ำมันได้เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ ส่วนที่เรามีการส่งออกน้ำมันดิบก็ไม่ได้มาจากการที่เรามีน้ำมันดิบเหลือเฟือ โดยเหตุผลนั้นก็อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

จริง ๆ แล้ว เรื่องราคาน้ำมันแพงนี้ โฆษกกระทรวงพลังงาน ได้เคยชี้แจงว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้งยังมีปัจจัยค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง จึงส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยให้สูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุจากกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรผู้ผลิตน้ำมัน ยังคงใช้แนวทางค่อยเป็นค่อยไปในการฟื้นฟูกำลังผลิตหลังจากช่วงการระบาดใหญ่ โดยตกลงที่จะส่งออกน้ำมันดิบเพียง 400,000 บาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 จนถึงเดือนเมษายน 2565 ทำให้อุปสงค์น้ำมันตึงตัว

ส่วนที่บอกว่าราคาน้ำมันไทยแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านนั้น มีทั้งแพงกว่าและถูกกว่า ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการจัดเก็บภาษีน้ำมันที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ภาษีเทศบาล รวมทั้งการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นกลไกการดูแลราคาน้ำมันในประเทศ และส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก พลังงานสะอาด เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ และดูแลสิ่งแวดล้อม

ปัญหาน้ำมันแพงที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ รัฐบาลและกระทรวงพลังงานได้พยายามดูแลราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด เพื่อตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร รวมถึงการปรับลดสัดส่วนน้ำมันผสมพลังงานทางเลือก และปรับลดค่าการตลาดน้ำมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สุดท้ายเราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ด้วยการใช้พลังงานอย่างประหยัด เพื่อคนไทยทุกคน

หมายเหตุ: ข้อมูลจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

Advertisment