กัลฟ์ – ปตท. ลงนามร่วมทุนการนิคมฯ ก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ดันไทยเป็นศูนย์กลาง LNG

- Advertisment-

บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด ลงนามสัญญาร่วมลงทุนรูปแบบ PPP กับ กนอ. หลังคณะรัฐมนตรี อนุมัติขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดรวมพื้นที่ถมทะเล 1,000 ไร่ เพื่อเดินหน้าโครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 รวมสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) หวังผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง LNG และปิโตรเคมีในอนาคตคาดพัฒนาแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ ในปี 2568  

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP NET Cost) ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับ บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ผู้ชนะประมูลโครงการดังกล่าว โดยการลงนามดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เห็นชอบการลงทุนโครงการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดซึ่งเป็นพื้นที่ถมทะเล 1,000 ไร่ เพื่อพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1

นายสมคิด กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้นับเป็นโครงการแรกที่บรรลุความสำเร็จในการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน และเป็นโครงการแรกใน 5 โครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต และการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของมาบตาพุด ทำให้เกิดการพัฒนาปิโตรเคมีขั้นสูงที่นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ทันสมัยอื่น ๆ และคาดหวังจะมีความร่วมมือในโครงการที่สองตามมาคือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่จะดำเนินการให้เสร็จก่อนวันที่ 15 ตุลาคมนี้ และจะพยายามผลักดันให้โครงการที่เหลือให้สำเร็จทั้งหมด ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ,โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพราะจะสร้างความน่าเชื่อถือในการเริ่มต้นลงทุนโครงการขนาดใหญ่ และสร้างอนาคตให้กับประเทศไทย

- Advertisment -

ด้าน น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า หลังจากนี้ กนอ. และกัลฟ์เอ็มทีพีฯ จะต้องดำเนินการขอใบอนุญาต จำนวน 3 ใบ ได้แก่ 1.ใบอนุญาตถมทะเลจากกรมเจ้าท่า 2. ใบอนุญาตนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และ 3.ใบอนุญาตกักเก็บและแปรสภาพ LNG จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งในขั้นตอนแรกจะต้องขอใบอนุญาตถมทะเลก่อน เพื่อทำการขุดลอกลำน้ำเพื่อนำทรายมาถมทะเล คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นจึงดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรืออีกประมาณ 2 ปี รวมระยะเวลาดำเนินการยังอยู่ในกรอบเวลา 5 ปี

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (คนที่ 3 จากซ้าย) และ น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. (คนที่ 3 จากขวา)

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ กล่าวว่า กัลฟ์เอ็มทีพีฯ เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกัลฟ์ฯ ในสัดส่วน 70% อีก 30% ถือหุ้นโดยพีทีทีแทงค์ มูลค่าการลงทุนรวม 47,900 ล้านบาท หลังจากนี้ กัลฟ์ฯ จะต้องเตรียมจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อดำเนินการถมทะเลและสร้างท่าเรือ (Terminal) คาดว่าจะกู้เงินในสัดส่วน 70% ส่วนอีก 30% เป็นทุนหมุนเวียน เบื้องต้นจะใช้เงินลงทุนถมทะเลราว 12,000 – 13,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือราว 35,900 ล้านบาท เป็นการลงทุนสร้างท่าเทียบเรือและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) จะทยอยกู้เงินได้ในปี 2563

“กัลฟ์ และ ปตท. ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางปิโตรเคมี โรงกลั่น และ LNG ในอนาคต เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และเชื่อว่าโครงการท่าเทียบเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้แข็งแกร่งมากขึ้น เกื้อหนุนต่อการผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นสูง และสนับสนุนภาพลักษณ์และรายได้ของประเทศ” นายสารัชถ์กล่าว

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บมจ.ปตท. กล่าวว่า ท่าเรือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ เพราะเป็นประตูการค้าและการลงทุน ซึ่งในระยะที่ 3 เป็นการลงทุนสร้างท่ารับจ่าย LNG เพิ่มอีก 5 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันที่ ปตท. มีท่ารับ LNG อยู่แล้ว 2 แห่ง ที่มาบตาพุดและหนองแฟบ รวม 19 ล้านตันต่อปี แต่อาจไม่เพียงพอต่อการใช้ก๊าซในอนาคต จึงต้องลงทุนสร้างท่ารับ LNG เพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 55,400 ล้านบาท โดยในช่วงที่ 1 จะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยบริษัทคู่สัญญาที่ได้ลงนามในวันที่ 1 ตุลาคม 62 แล้ว จะสามารถเข้าไปพัฒนาพื้นที่ได้ทันที โดยได้สิทธิพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ (Superstructure) ประมาณ 200 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุน 47,900 ล้านบาท แบ่งเป็น กนอ. ร่วมลงทุนเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิไม่เกิน 12,900 ล้านบาท และเอกชน 35,000 ล้านบาท ได้แก่ การขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ การขุดลอกร่องนํ้าและแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568

ส่วนในช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนพัฒนาการก่อสร้างในส่วนท่าเรือ (Superstructure) โดย กนอ. จะออก TOR เชิญชวนเอกชนที่สนใจเข้าร่วมพัฒนา โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลว รองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลวได้ 4 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการในปี 2568 ใช้เงินลงทุนประมาณ 4,300 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า จำนวน 150 ไร่ เงินลงทุน 3,200 ล้านบาท เพื่อรองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เพราะปัจจุบันการใช้งานท่าเรือมาบตาพุดใกล้เต็มศักยภาพรองรับแล้ว จำเป็นต้องขยายเป็นระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซ LNG และสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่าจะรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวได้เพิ่มอีก 14 ล้านตันต่อปี ในอีก 30 ปีข้างหน้า

Advertisment

- Advertisment -.