- Advertisment-

รัฐมนตรีพลังงาน ยืนยันให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เปิดประมูลนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) รอบใหม่ได้ หลังทดสอบระบบนำเข้า LNG  ไม่เกิน 1.8 แสนตัน ในรูปแบบตลาดจร(Spot)เสร็จก่อน แต่ต้องดำเนินการในจังหวะที่เหมาะสม และราคาก๊าซฯจะต้องไม่ส่งผลกระทบค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ

 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานยืนยันในหลักการเดิมที่จะส่งเสริมการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และเตรียมให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดประมูลนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) รอบใหม่ แต่จะต้องดำเนินการในช่วงจังหวะที่เหมาะสม และราคาก๊าซฯจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ

- Advertisment -

 

โดยขณะนี้กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับหลักเกณฑ์การนำเข้า LNG ใหม่ ตามแนวทางที่นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2562 คือให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศไม่สูงมากนัก และต้องผลักดันไปสู่เป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลาง LNG ภูมิภาคอาเซียน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปี 2562 นี้

 

“การเปิดประมูลรอบใหม่ ก็อาจจะต้องปรับตัวเลขนำเข้าให้เหมาะสม คิดว่าไม่นานจะได้ข้อสรุป ซึ่งจะดำเนินการให้เร็ว เพราะอยากให้ กฟผ.นำเข้าได้ตามหลักการเดิมไม่อยากให้ผูกพันแล้วมีปัญหา”

 

ทั้งนี้ กฟผ. ยังจะต้องนำเข้า LNG ในรูปแบบตลาดจร(Spot) ปริมาณไม่เกิน 2 คาร์โก้ (คาร์โก้ละ 9 หมื่นตัน) หรือไม่เกิน 1.8 แสนตัน ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2562 ต่อไป เพื่อทดสอบความพร้อมของกฟผ.และระบบโครงสร้างพื้นฐานตามข้อกำหนดของรัฐบาลที่เปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้คลังและท่อก๊าซธรรมชาติของ ปตท.(Third Party Access :TPA)ได้

 

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ต้องยุติการเปิดประมูลนำเข้าLNG ของกฟผ.ครั้งก่อนนั้น เนื่องจากที่ประชุม กบง. ยังมีข้อกังวลเรื่องของปริมาณนำเข้า 1.5ล้านตันเหมาะสมหรือไม่ อีกทั้งเมื่อนำเข้ามาคำนวนในระบบซื้อขายก๊าซธรรมชาติ(Pool Gas) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สูตรราคาเฉลี่ยเดิม คือ ก๊าซในส่วนที่ ปตท.นำเข้าจากต่างประเทศ รวมที่ซื้อจากเมียนมาร์ และก๊าซในอ่าว กับอีกส่วนคือ ราคาก๊าซของ กฟผ. โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้พิจารณาแล้วพบว่า จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าในอัตรากว่า 2 สตางค์ต่อหน่วย จึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบการนำเข้าให้เหมาะสมก่อน

Advertisment

- Advertisment -.