กระทรวงพลังงานพร้อมประชาพิจารณ์โรงไฟฟ้าชุมชน13มี.คนี้หวังเงินลงทุนสะพัด6หมื่นล้าน

- Advertisment-

กระทรวงพลังงานเปิด 6 ขั้นตอนให้ความรู้เบื้องต้นโรงไฟฟ้าชุมชน พร้อมเปิดประชาพิจารณ์ 13 มี.ค. 2563นี้ และให้ยื่นเสนอโครงการภายในเดือนมี.ค.หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากจากการลงทุนวงเงินรวมประมาณ 6 หมื่นล้านบาทในปี2563และ2564

บอร์ดนิทรรศการที่กระทรวงพลังงานจัดแสดงให้ความรู้เรื่องโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า 6 ขั้นตอนเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชุมชนที่ทางกระทรวงพลังงานจัดทำไว้ในรูปแบบบอร์ดนิทรรศการและนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้าเยี่ยมชมก่อนการประชุมหัวหน้าส่วนราชการกว่า 40 หน่วยงานที่กระทรวงพลังงานเป็นเจ้าภาพเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2563 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย

- Advertisment -

ขั้นตอนที่ 1 การรับซื้อไฟฟ้า โดยในปี2563 จะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าปริมาณรวม700 เมกะวัตต์  โดยแบ่งเป็นส่วนของโครงการ Quick win ซึ่งเป็นโครงการที่จะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี2563 ในปริมาณรับซื้อไม่เกิน100 เมกะวัตต์  ซึ่งจะเปิดโอกาสให้โครงการที่โรงไฟฟ้าสร้างเสร็จแล้ว หรือใกล้จะเสร็จ แต่ยังไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามาก่อนเข้าร่วมโครงการ  ส่วนโควต้าปริมาณซื้อไฟฟ้าที่เหลือจะเปิดให้กับโครงการทั่วไป และจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี2564

ขั้นตอนที่ 2 หลักการทั่วไป  โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จะแบ่งเป็น 4 ประเภทเชื้อเพลิง คือ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย) ก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน) และเชื้อเพลิงHybridร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์  โดยมีปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายตามประกาศรับซื้อโรงละไม่เกิน10 เมกะวัตต์  เป็นสัญญาประเภทnon-firm   ที่คณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่จัดตั้งภายใต้ กพช. จะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือก โดยคำนึงถึง การให้ผลประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชนสูงสุด เป็นหลัก

ขั้นตอนที่ 3 สัดส่วนการถือหุ้นโรงไฟฟ้า  มีการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ที่จะต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน กำหนดสัดส่วนถือหุ้นบุริมสิทธิ์ 10% ในช่วงเริ่มต้นโครงการ ที่เหลืออีก 90% เป็นการถือหุ้นของ เอกชน หรือเอกชนร่วมกับหน่วยงานรัฐ  ซึ่งในอนาคตวิสาหกิจชุมชนสามารถซื้อหุ้นเพิ่มได้รวมแล้วไม่เกิน 40%ของทุนจดทะเบียน


ขั้นตอนที่ 4 รูปแบบโครงการ  โรงไฟฟ้าชุมชนต้องทำ Contract Farming รับซื้อเชื้อเพลิงกับวิสาหกิจชุมชน และไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือการไฟฟ้านครหลวงที่เป็นคู่สัญญา  โดยเงินที่จ่ายให้กับโรงไฟฟ้าชุมชน ตามอัตรา Feed in Tariff ที่กำหนด จะแบ่งส่วนหนึ่งประมาณ 0.25-0.50บาทต่อหน่วยให้กับกองทุนหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้น

ขั้นตอนที่ 5  สัดส่วนการแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้า ที่จ่ายเข้ากองทุนหมู่บ้าน จะนำมาใช้ในการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตามเงื่อนไขที่กองทุนหมู่บ้านกำหนด

ขั้นตอนที่ 6 พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น ครอบคลุมหมู่บ้านรอบโรงไฟฟ้า ในรัศมี 1 กม.สำหรับโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าไม่เกินปีละ100 ล้านหน่วย  รัศมี 3 กม.สำหรับโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าตั้งแต่100-5,000ล้านหน่วย และรัศมี 5 กม. สำหรับโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าเกิน5,000ล้านหน่วย

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานจะเปิดประชาพิจารณ์โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ในวันที่ 13 มี.ค. 2563 นี้ หลังจากนั้นจะออกประกาศให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอเข้าร่วมขายไฟฟ้าตามโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นภายในเดือนมี.ค.2563 นี้

โดยจะเร่งดำเนินการโรงไฟฟ้าชุมชนให้เกิดขึ้นเร็วที่สุดเพราะจะเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยผลักดันการลงทุนให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ประเทศเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสCOVID-19

สำหรับเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการดังกล่าวอยู่ที่ 700 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเกิดเม็ดเงินลงทุนหมุนเวียนมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท สร้างรายได้ให้กองทุนหมู่บ้านทุกปี และยังช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก( PM2.5) จากการเผาวัสดุการเกษตร 2.5 หมื่นตัน โดยขณะนี้มีโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องที่สามารถยื่นขอจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนได้ทันที เช่น โรงไฟฟ้าชุมชนที่อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ , อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ , อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี , อ.บันนังสตา จ.ยะลา ,อ.เมือง จ.นราธิวาส

Advertisment

- Advertisment -.