กรมโรงงานฯเตรียมแผนกำจัดซากโซลาร์เซลล์ ทะลุ5แสนตันอีก5ปี

- Advertisment-

กรมโรงงานอุตสาหกรรมเตรียมศึกษาแนวทางการส่งเสริมการลงทุนตั้งโรงงานกำจัดซากโซลาร์เซลล์ รับมืออีก5ปีจะมีจำนวนซากแผงโซลาร์หมดอายุใช้งานมากขึ้นถึง5-6แสนตัน และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต เนื่องจาก รัฐยังมีนโยบายซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มากถึง10,000เมกะวัตต์ ในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่

นายทองชัย  ชวลิตพิเชฐ  อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม  กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า  กรมฯเตรียมออกทีโออาร์เพื่อว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาศึกษาถึงแนวทางที่เหมาะสมในการกำจัดซากโซลาร์เซลล์ที่คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต จากนโยบายของรัฐในการส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน10ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษา 1ปี

นายทองชัย กล่าวว่า แผงโซลาร์เซลล์ที่มีคุณภาพ จะมีระยะเวลาในการใช้งานประมาณ20ปี ก็จะหมดอายุการใช้งาน แต่ในกรณีที่แผงโซลาร์เซลล์ที่คุณภาพต่ำ อายุการใช้งานจะสั้นลงเหลือประมาณ5-10ปีเท่านั้น

- Advertisment -

ที่ผ่านมาใน.2560 มีการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ทั้งหมดแล้ว ประมาณ 2,400 เมกะวัตต์  และในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือแผนPDP ยังมีการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์อีกกว่า10,000เมกะวัตต์

ดังนั้นกรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้มีการหารือกับกระทรวงพลังงานถึงการเตรียมการศึกษาแนวทางการจัดการซากแผงโซลาเซลล์ที่จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นโดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน  ทั้งนี้มีการประเมินเบื้องต้นว่าภายในอีก5ปีข้างหน้า จะมีจำนวนซากโซลาร์เซลล์มากถึง5-6แสนตัน

ทั้งนี้ปัจจุบันยังไม่มีการลงทุนสร้างโรงงานกำจัดซากโซลาร์เซลล์โดยเฉพาะ  มีแต่เพียงการลงทุนสร้างโรงงานรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์เพียง1โรงเท่านั้น ที่จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยเป็นการนำแผงเก่าที่หมดอายุการใช้งานมาเปลี่ยนแผ่นเซลล์เพื่อนำกลับไปใช้ใหม่  ส่วนแผ่นเซลล์ที่หมดอายุก็ใช้วิธีส่งคืนผู้ผลิตต่างประเทศ  หรือนำมาบดย่อยซากโซลาเซลล์และฝังกลบในหลุมฝังกลบอุตสาหกรรม (Secure Landfill)

แผนที่แสดงที่ตั้งโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่กระจุกตัวอยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังมีจำนวนของซากแผงโซลาเซลล์ไม่มากนัก  นักลงทุนส่วนใหญ่จึงยังติดตามสถานการณ์การลงทุนอยู่  แต่กรมโรงงานอุตสาหกรรมคาดว่าอีก 5 – 10 ปีข้างหน้าเมื่อมีจำนวนซากแผงโซลาร์เซลล์มากขึ้น ก็จะมีการตั้งโรงงานประเภทนี้มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เป็นพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์หรือการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปอยู่จำนวนมาก

Advertisment

- Advertisment -.