กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ลงนามสัญญา PSC กับ ปตท.สผ.อีดี และ เชฟรอน ร่วมผลิตก๊าซอ่าวไทย รอบ 24 คาดเงินลงทุนสะพัดกว่า 1,500 ล้านบาท

- Advertisment-

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) กับ 2 บริษัทผู้ได้รับสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ครั้งที่ 24 รวมจำนวน 3 แปลง พื้นที่กว่า 30,000 ตารางกิโลเมตร คาดใช้เวลา 6 ปีสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ได้จริง ช่วยให้เกิดเม็ดเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท  และภาครัฐยังได้รับผลประโยชน์พิเศษอื่นๆ รวมกว่า 640 ล้านบาท โดยปตท.สผ.อีดี และบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุจะเร่งสำรวจและผลิตก๊าซฯ เพื่อสร้างความมั่นคงพลังงานไทยให้ได้โดยเร็ว

วันที่ 30 พ.ค. 2566 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) กับ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(ปตท.สผ.อีดี) และ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24 โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้บริหารของกระทรวงพลังงานร่วมในพิธีลงนามดังกล่าว

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การลงนาม PSC กับ 2 บริษัทผู้ได้รับสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24 นี้ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 ที่อนุมัติให้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นผู้ได้รับสิทธิ์การเป็นผู้รับสัญญา PSC สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข  G1/65 และ G3/65 ขนาดพื้นที่รวม 20,133.87 ตารางกิโลเมตร และบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิ์การเป็นผู้รับสัญญา PSC สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ขนาดพื้นที่ 15,030.14 ตารางกิโลเมตร

- Advertisment -

“การลงนามสัญญา PSC ในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศในระยะยาวอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นหนึ่งในมาตรการช่วยขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศจากธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ ในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม อาทิ ธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจภาคขนส่ง รวมถึงธุรกิจร้านอาหาร และโรงแรมด้วย”

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า การให้สิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการลงทุนสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมภายในประเทศตลอดช่วงระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม 6 ปี เป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท รวมทั้งได้รับผลประโยชน์พิเศษในรูปแบบของค่าตอบแทนการลงนาม เงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทย และอื่น ๆ เป็นเงินประมาณ 640 ล้านบาท และหากสามารถพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมได้ในเชิงพาณิชย์ ในแปลงสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าวก็จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่รัฐในรูปแบบของค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งปิโตรเลียมที่เป็นกำไรด้วย

นายรณรงค์ ชาญเลขา ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้รับสัญญา PSC สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 กล่าวว่า บริษัทฯ พร้อมที่จะทำงานร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในการพัฒนาแปลงสำรวจหมายเลข G2/65 อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และแนวทางปฏิบัติงานมาตรฐานระดับโลก เพื่อส่งมอบพลังงานที่สะอาดขึ้น อย่างปลอดภัย และเชื่อถือได้ให้กับประเทศ เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงาน ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำในระยะยาวต่อไป​

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า ในฐานะบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของคนไทย ซึ่งมีภารกิจในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ปตท.สผ. มีความพร้อมที่จะสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แปลงด้วยองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่สะสมมาตลอด 38 ปี โดยทั้ง 2 แปลงอยู่ใกล้กับโครงการของแปลงสำรวจ G1/61 และ G2/61 ที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว ทำให้สามารถพัฒนาโครงการได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นแหล่งพลังงานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยในระยะยาว

นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งผลิตปิโตรเลียม G1/61 หรือแหล่งเอราวัณ ที่  ปตท.สผ.อีดี ได้รับสัญญา PSC ต่อจากบริษัท เชฟรอนฯ หลังสิ้นสุดอายุสัมปทาน เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2565 ว่า การผลิตก๊าซฯ แหล่งเอราวัณยังคงเป็นไปตามแผนงาน โดยยืนยันว่าในเดือน ก.ค. 2566 นี้ จะสามารถเร่งการผลิตก๊าซฯ ขึ้นมาได้ระดับ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ระดับ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากนั้นในเดือน ธ.ค
 2566 จะขึ้นมาอยู่ระดับ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะผลิตได้ครบตามสัญญา PSC จำนวน 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในช่วงต้นเดือน เม.ย. 2567

ส่วนการเจรจาด้านการแสวงหาประโยชน์ในพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชานั้น เป็นเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศต้องดำเนินการเจรจากับกัมพูชา เพื่อให้ใช้ประโยชน์ก๊าซธรรมชาติในแหล่งดังกล่าวร่วมกันได้ในอนาคต อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ดังนั้นคงต้องรอให้รัฐบาลใหม่มาดำเนินการต่อไป

Advertisment

- Advertisment -.