กฟผ. มุ่งงานวิจัยตอบโจทย์ความมั่นคงไฟฟ้า

- Advertisment-

อุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศไทยกำลังปรับตัวไปตามทิศทางโลกท่ามกลางกระแส Disruptive Technology ที่มุ่งไปสู่การผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียนควบคู่ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems) และมีนวัตกรรมไฟฟ้าใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าธุรกิจไฟฟ้าให้พัฒนาไปจากเดิม โดยในส่วนของภาครัฐของไทย ก็เตรียมปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป ซึ่งเราจะได้เห็นผู้บริโภคกลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองและสามารถขายส่วนเกินระหว่างกันได้ หรือที่เรียกว่า Prosumer จากเดิมที่หน่วยงานการไฟฟ้าของรัฐเป็นผู้ผลิตและขายเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งต้องการการศึกษาและงานวิจัยที่สอดคล้องเหมาะสมและตรงโจทย์ความต้องการของประเทศ เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์จริงรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

องค์กรรัฐวิสาหกิจหลักด้านไฟฟ้าของไทยอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตระหนักในสถานการณ์นี้เป็นอย่างดี และได้เตรียมปรับตัวในเรื่องงานวิจัยพลังงานให้สอดคล้องกับทิศทางโลกและเป็น ประโยชน์ต่อองค์กรและภาคไฟฟ้าของไทย โดยล่าสุด นายสาธิต ครองสัตย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้กล่าวชี้แจงให้ผู้เข้าร่วมงานสัมมนา “งานวิจัยพลังงานเพื่อพลิกโฉมไฟฟ้าไทยให้ยั่งยืน” จัดโดย โครงการร่วมสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา กฟผ. – สกว. ภายใต้การดูแลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า กฟผ. ได้ปรับแนวทางการวิจัยเพื่อให้สอดคล้องแนวทางการผลักดันให้เกิด Prosumer ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานและ แนวทางที่รัฐบาลก็กำลังผลักดัน โดยได้ปรับแนวทางการวิจัย เป็น 4 แนวทาง ได้แก่

- Advertisment -
  1. เพิ่มศักยภาพดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้า – เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าที่เกิดจาก Disruptive Technology เริ่มเข้าสู่ในระบบไฟฟ้ามากขึ้น และ กฟผ. เชื่อว่าการผลิตไฟฟ้าเองใช้เองต้องเกิดขึ้นแน่นอน ดังนั้น กฟผ. จึงมุ่งแสวงหาวิธีเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้า
  2. กฟผ. จะต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในธุรกิจขององค์กรให้มากขึ้น ให้สอดคล้องกับแนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว
  3. การขับเคลื่อน กฟผ. ไปสู่องค์กรอัจฉริยะ โดยการคิดพิจารณาว่าจะใช้ดิจิทัลอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  4. การพัฒนาสังคมให้เกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาชีวิตผู้คนให้มั่นคงสมบูรณ์

ทั้งนี้ กฟผ. ต้องการสร้างงานวิจัยที่จะนำมาใช้งานให้เกิดประโยชน์ได้จริง โดยโจทย์การวิจัยต้องตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของ กฟผ. และกำลังพยายามหานักวิจัยที่เหมาะสมกับงาน ของ กฟผ. ต่อไป

วิจัยให้ตรงโจทย์พลังงานไทย

ในงานสัมมนาเดียวกันนี้ นอกจากได้ทราบทิศทางการวิจัยด้านพลังงานของ กฟผ.แล้ว ยังมีผู้เชี่ยวชาญในแวดวงพลังงานไฟฟ้าหลายท่าน ได้แสดงความคิดเห็นประเด็นงานวิจัยด้านพลังงานไว้อย่างน่าสนใจ

นายพินิจ ศิริพฤกษ์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ในโครงการร่วมสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา กฟผ.-สกว. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) มีกองทุนเพื่อการวิจัยปีละ 1,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาพบว่ามีการอนุมัติใช้จริงแค่ 20 ล้านบาท แต่ละปีเหลือเงินเกือบ 1,000 ล้านบาท ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากหัวข้อการวิจัยที่เสนอให้สำนักงานฯ พิจารณานั้น เป็นหัวข้อที่หน่วยงานไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ดังนั้น หัวข้อวิจัยควรต้องสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานนั้นๆ ด้วย เช่น อนาคตไทยจะเปิดการซื้อขายไฟฟ้ากันเองมากขึ้นโดยผ่านระบบจำหน่าย การวิจัยศึกษาจึงควรออกมาในรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าจะผ่านสายส่งอย่างไร คิดราคาอย่างไร เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เกิดการนำผลการวิจัยไปใช้ได้จริงในอนาคต

ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ในโครงการร่วมสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา กฟผ.-สกว. กล่าวว่า ปัญหาการวิจัยด้านพลังงานปัจจุบันคือ ไม่ได้นำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์จริง ที่ผ่านมาพบว่าเงินสำหรับการวิจัยมีอยู่มาก แต่ข้อเสนอการวิจัยด้านพลังงานที่ดีๆ มีน้อย จึงมีข้อเสนอแนะว่า งานวิจัยต้องพิจารณาให้ตรงโจทย์  โดยดูว่าวิจัยอะไรและเป้าหมายขั้นสุดท้ายต้องการให้เกิดอะไรขึ้นในด้านพลังงาน เช่น การวิจัยเรื่องแบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) น้ำมันจากชีวมวลและการประหยัดพลังงาน ควรมีเป้าหมายการวิจัย เช่นสามารถนำมาประเมินว่าไทยมีศักยภาพแค่ไหน สามารถแข่งขันได้หรือไม่ ซึ่งยอมรับว่าปัจจุบันยังขาดนักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านพลังงาน จึงอยากให้ช่วยกันสร้างนักวิจัยให้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเห็นว่า ปัจจุบันทิศทางวิจัยด้านพลังงานยังกระจัดกระจาย รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการจัดสรรทุนวิจัยยังเกิดความซ้ำซ้อน จึงอยากให้มีทิศทางที่ไปในแนวทางเดียวกันด้วย

นายสถิตย์ สุขอนันต์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ในโครงการร่วมสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา กฟผ.-สกว. กล่าวว่า หัวข้องานวิจัยที่น่าสนใจในยุคนี้คือ เทคโนโลยี บล็อกเชน (Blockchain) ที่จะช่วยให้การคิดค่าไฟฟ้าและการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันเกิดความต่อเนื่อง และจะเกิดการใช้งานระบบบล็อกเชนอย่างแพร่หลายในอนาคต

งานวิจัยต้องสอดคล้องกับนโยบายพลังงานของรัฐ

ศ.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ประธานกรรมการอำนวยการโครงการร่วมสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา กฟผ.- สกว.

ศ.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ประธานกรรมการอำนวยการโครงการร่วมสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา กฟผ.- สกว. กล่าวว่า การทำให้งานวิจัยประสบผลสำเร็จจำเป็นต้องพิจารณาเกี่ยวการกำหนดโจทย์การวิจัย ซึ่งต้องเป็นโจทย์ที่เกี่ยวกับอุปสรรคที่กำลังท้าทายและสามารถนำมาใช้งานได้จริง เช่น  ซึ่งการวิจัยด้านพลังงานหลาย ชิ้นที่ผ่านมา ยังเป็นเพียงการศึกษาวิจัยที่ต้องหาข้อเท็จจริงต่อไป เช่น การศึกษาพลังงานลมใช้คู่กับแบตเตอรี่  จะช่วยทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือเพียงแค่ 1.18 บาทต่อหน่วย ซึ่งถ้าทำใด้จริงถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เชื่อว่าคงทำได้ไม่มากนัก เพราะศักยภาพลมเมืองไทยไม่มีสูงเหมือนต่างประเทศ

ด้านนายอำนวย ทองสถิตย์ คณะกรรมการอำนวยการโครงการร่วมสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา กฟผ.-สกว. และอดีตอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) แสดงทัศนะว่าการวิจัยควรจะต้องให้เกิดประโยชน์และต้องสอดคล้องไปกับแผนปฏิรูปพลังงานประเทศด้วย โดยเฉพาะการวิจัยด้านเรื่องการดูแลสายส่งไฟฟ้า การแยกองค์กรเป็นองค์กรด้านระบบส่งไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ ปัจจุบัน เทคโนโลยีก้าวนำนโยบายไปแล้ว ดังนั้น รัฐควรจะเข้ามาดูเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลังงานให้มากขึ้น

ขณะที่ ศ.ดร.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ คณะกรรมการอำนวยการโครงการร่วมสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา กฟผ.-สกว. กล่าวว่า การวิจัยที่สมบูรณ์แบบต้องตอบโจทย์ 2. ด้านคือ 1.การใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับ 4 ปัจจัย คือ ชุมชน สาธารณะ นโยบายและการปฏิบัติเชิงพาณิชย์ ดังนั้นงานวิจัยจะต้องหาโอกาสร่วมมือกับผู้ใช้งานอย่างใกล้ชิด และ 2.ต้องทำงานเป็นทีมระหว่างนักวิจัยหลายสาขาวิชาร่วมกัน ซึ่งโจทย์ด้านพลังงานเป็นโจทย์แบบสหวิชาที่ต้องร่วมมือกับนักวิจัยหลายฝ่าย

การเปลี่ยนแปลงแบบ disrupt ของภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าเป็นสิ่งกำลังเกิดขึ้นแล้วทั่วโลก และไทยจำเป็นต้อง ปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น งานวิจัยด้านพลังงานจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ จะทำให้ไทยก้าวหน้าทันเทคโนโลยี และมีความมั่นคงทางพลังงานมากขึ้น แต่การวิจัยที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้จำเป็นต้องประสานความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ นักวิชาการ เอกชน และทุกฝ่ายที่ เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าของไทยให้มั่นคงยั่งยืนต่อไป

Advertisment