- Advertisment-

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ประกาศเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ. 2050 พร้อมปรับสัดส่วนผลิตไฟฟ้าโครงการโซลาร์ลอยน้ำแบบไฮบริด เพิ่มเป็น 5,325 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ.2037 จากเดิมรัฐอนุมัติให้ทำเพียง 2,725 เมกะวัตต์ และปลูกป่าอีก 1 ล้านไร่ คาดช่วยลดก๊าซคาร์บอนฯได้ 1.2 ล้านตันต่อปี

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2564 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้ประกาศนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน(EGAT Carbon Neutrality) พร้อมการลงนามความร่วมมือปลูกป่าล้านไร่ ระหว่าง กฟผ. , กระทรวงพลังงาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ตั้งเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ “ EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 ( พ.ศ. 2593 หรืออีก 29 ปีข้างหน้า) ด้วยกลยุทธ์ Triple S ใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.การปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นด้วยโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด หรือ Hydro-Floating Solar Hybrid  โดยคาดว่าจะมีไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนดังกล่าวเพิ่มเป็น 5,325 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ. 2037 (พ.ศ. 2580) จากเดิมภาครัฐให้ผลิตเพียง 2,725 เมกะวัตต์  

- Advertisment -

ด้านที่ 2.การเพิ่มปริมาณดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ ภายใน 10 ปี(ค.ศ.2022-2031 หรือ พ.ศ.2565-2574) รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนฯปริมาณ 3.5-7 ล้านตันในปี ค.ศ. 2045 (พ.ศ.2588) และด้านที่ 3 ใช้กลไกสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนฯ เช่น โครงการฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5, โครงการห้องเรียนสีเขียว, การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(EV)เบอร์ 5, บ้านและอาคารเบอร์ 5 และการให้คำปรึกษาด้านพลังงาน เป็นต้น 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ พลังงานนวัตกรรมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนว่า ภาวะโลกร้อนและอากาศแปรปรวนเกิดจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นจากทั่วโลก ส่งผลให้หลายประเทศพยายามช่วยกันลดก๊าซคาร์บอนฯลง และประกาศจะเป็นกลางทางคาร์บอน(carbon neutral) ในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ.2593)  

สำหรับประเทศไทยมีการปล่อยคาร์บอนฯ 300-400 ล้านตันต่อปี และมีภาระต้องจัดการคาร์บอนไดออกไซด์ คิดเป็นมูลค่า 2,000 บาทต่อตัน หรือคิดเป็น 7-8 แสนล้านบาทต่อปี ดังนั้นการปลูกป่า 1 ล้านไร่ จะช่วยลดคาร์บอนฯได้ 1.2 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้ในภาคพลังงานซึ่งปล่อยคาร์บอนฯสูง ก็จะต้องปรับเปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่ง กฟผ.จะเป็นต้นแบบการรองรับไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ทั้งภาคการผลิตไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้าและเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น นโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(EV) จะต้องมีไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมาใช้เพื่อลดภาวะโลกร้อนและเป็นพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ.ได้เริ่มดำเนินการแล้วโดยเฉพาะโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด (Hydro-floating solar hybrid) ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานน้ำ ที่เขื่อนสิรินธร กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ โดยในอนาคตจะต้องผลิตให้มากขึ้น  เป็นต้น อย่างไรก็ตามต้องการให้การลดภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน ให้ตระหนักถึงปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนและช่วยกันปลูกป่า เพื่อคนรุ่นหลังจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ สิ่งแวดล้อมกับความยั่งยืนเพื่อเรา เพื่อโลก ว่า กระทรวงทรัพยากรฯได้จัดทำโครงการ T-VER ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทร่วมปลูก บำรุงรักษาและฟื้นฟูป่าในพื้นที่ของรัฐ โดยเอกชนจะได้รับแบ่งปันปริมาณคาร์บอนเครดิต ซึ่งการปลูกป่าหรือการเพิ่มพื้นที่สีเขียว นอกจากจะมีประโยชน์ในเรื่องการดูดซับคาร์บอนไดออกไซต์สาเหตุของปัญหาก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังมีผลประโยชน์ร่วมในเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation Co-benefit) ด้วย

Advertisment

- Advertisment -.