กฟผ. ตั้งเป้าติดฉลากจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ปีละ 21,000 คัน

- Advertisment-

กฟผ. ตั้งเป้าติดฉลากจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ปีละ 21,000 คัน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้183 ล้านบาท  ในขณะที่ รัฐมนตรีพลังงานเตรียมออกแคมเปญ ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(EV)ครั้งสำคัญในเร็วๆนี้ เชื่อภายใน10ปี รถEV จะเติบโตรวดเร็ว ช่วยดึงปริมาณสำรองไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูงกว่า30-40%ในปัจจุบันให้ลดลง

 วันนี้ (28 สิงหาคม 2562) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือโครงการจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 พร้อมเปิดตัวและติดฉลากเบอร์ 5 บนจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 เป็นปฐมฤกษ์ โดยมีนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน ผู้บริหาร กฟผ. และหน่วยงานพันธมิตร เข้าร่วมงานฯ ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร ท.103 สำนักงานใหญ่ กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

วิบูลย์ ผู้ว่ากฟผ. (ซ้ายสุด) สนธิรัตน์ รัฐมนตรีพลังงาน (ขวาสุด)

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า โครงการจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะติดฉลากเบอร์ 5 ในปีนี้ จะช่วยพัฒนาและยกระดับยานยนต์ไฟฟ้าไปสู่มาตรฐานประสิทธิภาพสูง  ซึ่ง กฟผ.ได้ประกาศเชิญชวนผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้นำเข้าจักรยานยนต์ไฟฟ้า สมัครเข้าร่วมโครงการฯ พร้อมร่วมกันกำหนดมาตรฐานการทดสอบและเกณฑ์ประสิทธิภาพเบอร์ 5 รวมถึงดำเนินการทดสอบเพื่อติดฉลากฯ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562

- Advertisment -

ทั้งนี้เป้าหมายในการส่งเสริมให้เกิดการติดฉลากจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 จำนวนปีละ 21,000 คัน และคาดว่าจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ปีละ 183 ล้านบาท โดยจะเริ่มจ่ายฉลากเบอร์ 5 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 เป็นต้นไป

สำหรับผู้ประกอบการที่ลงนามความร่วมมือโครงการจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 จำนวน 12 ราย ได้แก่ บริษัท เจเนอร์รัล ออโต้ ซัพพลาย จำกัด, บริษัท เซ็นทรัล มายด์ จำกัด, บริษัท ดรีมเมอร์ส มอเตอร์ จำกัด, บริษัท เดโก้ กรีน เอนเนอร์จี จำกัด, บริษัท ต้าถุง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โตโยตรอน มอเตอร์ จำกัด, บริษัท รอยัล มอเตอร์ ดีไซน์ จำกัด, บริษัท ไลอ้อน ไบค์ จำกัด, บริษัท สตรอง (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท สตรอม (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท สตาร์ 8 (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท อี ลอน มอเตอร์ จำกัด

โดยรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ติดฉลากเบอร์5 จะมีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 20,000-60,000บาทต่อคัน ซึ่งใกล้เคียงกับราคารถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน  โดยจะวิ่งได้ระยะทาง 60-80กม.ต่อการชาร์จ1ครั้ง และ สามารถประหยัดต้นทุนพลังงานได้ถึง89%ประหยัดค่าบำรุงรักษาได้ 50% เมื่อเทียบกับรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน

ด้าน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานเตรียมเปิดตัวแคมเปญที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(EV)ครั้งสำคัญในเร็วๆนี้ ซึ่งแคมเปญดังกล่าวจะเกิดจากความร่วมมือในหลายหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม โดยยืนยันว่าจะเกิดประโยชน์ทั้งต่อประชาชนรวมถึงภาคธุรกิจของผู้ประกอบการด้วย

อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญของรถ EV คือระบบแบตเตอรี่ ซึ่งไทยจะต้องดึงผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระดับโลกมาร่วมมือพัฒนาระบบแบตเตอรี่ เพื่อให้ไทยสามารถเชื่อมโยงไปสู่การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมรถ EV ในอนาคต ซึ่งแบตเตอรี่มีทั้งส่วนที่ใช้สำหรับรถ EV และสำหรับเป็นระบบกักเก็บพลังงาน(Energy Storage System) ที่ใช้กับการผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้เชื่อว่า ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศที่สูง 30-40% ของกำลังการผลิตติดตั้ง อาจจะไม่เพียงพอภายใน 10ปี ข้างหน้า  หาก ยานยนต์ EV  มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและมาทดแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน

Advertisment

- Advertisment -.