กฟผ. ชูธง โซลาร์-ปลูกป่า-EV ช่วยลดภาวะโลกรวน เดินหน้าสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality

- Advertisment-

ปัญหาภาวะโลกรวน หรือ Climate Change ที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ปกคลุมชั้นบรรยากาศของโลกและทำให้อุณหภูมิภายในโลกสูงขึ้น เป็นเหตุให้สภาพอากาศแปรปรวนและเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น มีรายงานข่าวจากสื่อต่างๆ ระบุว่าเมื่อต้นเดือน พ.ค. 2565 ประเทศอินเดียอุณหภูมิสูงแตะ 49 องศาเซลเซียส สูงสุดในรอบ 122 ปี และทำให้มีผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนจัดถึง 26 คน ขณะที่เมื่อเดือน มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา ประเทศออสเตรเลียต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วมหนักในรอบ 1,000 ปี รวมถึงปัญหาไฟป่า แผ่นดินไหว และพายุ ขณะที่ประเทศไทยก็ต้องรับมือกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในเดือน เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งอุณหภูมิในบางจังหวัดพุ่งขึ้นถึง 42 องศาเซลเซียส ขณะที่ยังต้องระวังปัญหาพายุและน้ำท่วมในฤดูฝนนี้

ปัจจุบันประชาคมโลกต่างตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและพยายามร่วมกันแก้ไข โดยหลายประเทศพัฒนาแล้วประกาศให้คำมั่นจะลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ขณะที่ไทยเองก็ประกาศยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ทุกวิถีทาง สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของนานาประเทศทั่วโลก โดยจะดำเนินการต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) (ปริมาณการปล่อยคาร์บอน หรือ CO2 เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่าหรือวิธีการอื่น) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ.2593) และก้าวต่อไปสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในหรือก่อนหน้าปี 2065 (เนื่องจาก net zero emissions เป็นมิติที่กว้างกว่าการปล่อยคาร์บอน (CO2) เพราะพิจารณารวมถึงการปล่อยก๊าซมีเทน (CH4) และไนตรัสอ็อกไซด์ (N2O) ด้วย ซึ่งทั้ง CO2, CH4 และ NO2 เป็นองค์ประกอบหลักของก๊าซเรือนกระจก)

หลายหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในไทยก็ตื่นรู้และตื่นตัวต่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนตามนโยบายของภาครัฐ และทิศทางเพื่อความยั่งยืนของโลก โดยกระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ ซึ่งจะมุ่งเน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเป็นสำคัญ ทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม ชีวมวล  ก๊าซชีวภาพ และขยะ เป็นต้น รวมถึงการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วย

- Advertisment -

ส่วนรัฐวิสาหกิจที่ดูแลการผลิตไฟฟ้าอย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็เดินหน้าเต็มที่เพื่อผลักดันให้ไทยบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดย กฟผ. ได้ประกาศเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 ( พ.ศ. 2593) โดยจะมีการดำเนินการที่สำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่จะบรรลุเป้าหมาย 5,325 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ. 2037 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด (Hydro-Floating Solar Hybrid) การชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยโครงการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV และโครงการประหยัดไฟต่างๆ รวมถึงโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม ภายใน 10 ปี เพื่อดูดซับกักเก็บคาร์บอน

สำหรับโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ของ กฟผ. ปัจจุบันที่แล้วเสร็จคือที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีการพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเพิ่มเติมอีก 9 เขื่อน 16 โครงการ รวมกำลังการผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ (MW) เช่น ปี 2566 ที่เขื่อนอุบลรัตน์ ขนาด 24 เมกะวัตต์ (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2564) และมีแผนการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานเพื่อเพิ่มเสถียรภาพการผลิตไฟฟ้า ทำให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น กฟผ. ยังตั้งเป้าใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในปี ค.ศ. 2044 โดยคาดว่าจะผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้ 66,000 ล้านหน่วย ภายในปี ค.ศ. 2050 ขณะเดียวกัน กฟผ. มีแผน Grid Modernization เพื่อปรับปรุงพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการเปลี่ยนแปลงระบบไฟฟ้าให้สามารถจัดการ ควบคุม และดำเนินงานได้อย่างมั่นคงเชื่อถือได้ มีประสิทธิภาพและความยืดหยุ่น รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

โครงการโซลาร์เซลล์ เขื่อนสิรินธร

สำหรับโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม ในระยะเวลา 10 ปี หรือ ภายในปี 2574 (ค.ศ. 2021-2031) ที่ กฟผ. ร่วมกับองค์กรพันธมิตรต่างๆ บูรณาการงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมตามกรอบแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการร่วมสร้างป่าเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาสู่ต้นแบบพื้นที่เกษตรและป่าไม้ยั่งยืนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ นั้น คาดว่าจะสามารถดูดซับคาร์บอนฯ ได้ถึง 1.2 ล้านตันต่อปี และนอกจากการปลูกป่าแล้ว กฟผ. ก็ตั้งเป้าหมายใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนฯ ปริมาณ 3.5-7 ล้านตันในปี ค.ศ. 2045 ด้วย

ในส่วนของการส่งเสริม EV เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนนั้น เนื่องจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลในยานพาหนะเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเทรนด์ของโลกมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านมาใช้รถ EV ซึ่งรัฐบาลไทยก็ตั้งเป้าหมายให้ไทยมีรถ EV จำนวน 1.2 ล้านคัน ในปี 2579 และล่าสุดกำหนดนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือ รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 กฟผ. จึงได้วางนโยบายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายการใช้รถ EV ของภาครัฐอย่างเต็มที่ โดยปักธงธุรกิจ EV และเดินหน้าสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT เพื่อรองรับการเติบโตของผู้ใช้รถ EV  ปัจจุบันมีสถานีชาร์จ EleX by EGAT เปิดให้บริการแล้วกว่า50 สถานี และมีแผนขยายสถานีให้บริการเป็น 120 สถานีทั่วประเทศภายในปี 2565 นี้ รวมทั้งยังจับมือกับค่าย Wallbox ของสเปน เพื่อให้คนไทยได้ใช้อุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้ารถ EV ขนาดเล็กที่ติดตั้งตามบ้านเรือนได้ ภายใต้แบรนด์ “เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า Wallbox selected by EGAT” รวมถึง กฟผ. เองก็ได้นำร่องทดลองการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าและมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ในพื้นที่ของ กฟผ. และในภารกิจของ กฟผ. ก่อนจะขยายผลสู่การใช้ประโยชน์สำหรับภาคประชาชนในอนาคต  

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแก้ปัญหาลดภาวะโลกรวนเป็นภารกิจที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ซึ่งนอกจาก กฟผ. แล้ว หลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนก็มีนโยบายที่สอดคล้องกับเป้าหมายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่หน่วยงานเท่านั้น ประชาชนทั่วไปก็สามารถร่วมลดภาวะโลกรวนได้ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ผ่านวิธีประหยัดพลังงานและดูดซับคาร์บอน เช่น ปลูกต้นไม้รอบๆบ้าน ติดฉนวนกันความร้อนภายในบ้าน เลือกใช้หลอดประหยัดไฟฟ้า เลือกข้าวของเครื่องใช้ที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ปิดไฟฟ้าในส่วนที่ไม่ใช้งาน ขับรถให้น้อยลง เช็คลมยางสม่ำเสมอ วางแผนก่อนเดินทาง และเดินทางด้วยกันแบบ Car Pool เปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานชีวภาพ เช่น แก๊สโซฮอล์ และตรวจเช็คสภาพรถยนต์ทุก 3 เดือน เป็นต้น  

ทั้งนี้ เราสามารถเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมกับชีวิตประจำวันของตัวเอง ในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยให้อากาศและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับที่ปลอดภัยกับทุกชีวิตบนโลก หากภาครัฐ เอกชน และประชาชน จากทั่วทุกมุมของโลกร่วมมือกัน ในอนาคตภัยพิบัติจากสภาพอากาศแปรปรวนก็อาจจะลดน้อยลง และเราก็จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุลมากขึ้น

Advertisment

- Advertisment -.