กฟผ.คว้า 6 รางวัล ASEAN Energy Awards 2021

- Advertisment-

กฟผ. คว้า 6 รางวัล ASEAN Energy Awards 2021 จากผลงานกำกับดูแลกิจการถ่านหินที่ดีของโรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน และการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกมิติจนเป็นที่ยอมรับ

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ในฐานะตัวแทนประเทศไทยสามารถคว้ารางวัลจากการประกวด ASEAN Energy Awards 2021 ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์พลังงานอาเซียน รวมทั้งสิ้น 6 รางวัล แบ่งเป็น รางวัลความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ ของกิจการถ่านหินในอาเซียน (ASEAN Coal Awards 2021) จำนวน 5 รางวัล และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านอนุรักษ์พลังงาน (ASEAN Energy Efficiency and Conservation Best Practices Awards) ประเภทอาคารเขียว (Green Building) อาคารขนาดใหญ่ ซึ่งรางวัลดังกล่าวสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการอนุรักษ์พลังงานและการดำเนินการโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกมิติจนเป็นที่ยอมรับและได้รับเสียงชื่นชมในเวทีนานาชาติ

สำหรับรางวัล ASEAN Coal Awards 2021 ทั้ง 5 รางวัล ได้แก่

- Advertisment -
  • รางวัลชนะเลิศประเภทความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) ซึ่ง กฟผ. ได้รับรางวัลนี้ติดต่อกัน 4 ปีซ้อน โดยในปีนี้ได้จากผลงาน “Green CSR” ของ เหมืองแม่เมาะ กฟผ. โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และมุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่เป็นสำคัญ อาทิ การฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองให้เป็นพื้นที่ป่าและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจโดยปลูกป่าไปแล้วประมาณ 12,000 ไร่ จัดทำแอปพลิเคชัน “Lampang Hotspot” เพื่อให้ชุมชนทราบสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าในจังหวัดลำปาง พัฒนานวัตกรรมสำหรับชุมชนผ่านโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และอินทรีย์เคมีพรีเมี่ยมเกรดโดยใช้ลีโอนาร์ไดต์ กฟผ. ยังมีแผนพัฒนาแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) เพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตนเองและพัฒนาไปสู่วิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน
  • ประเภทนวัตกรรมถ่านหิน (Special Submission) กฟผ. ได้รับ 2 รางวัล คือ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากผลงานแบบจำลองยีออยด์ท้องถิ่นเหมืองแม่เมาะ (Geoid Model MAEMOH2019) ของ เหมืองแม่เมาะ กฟผ. ในการปรับปรุงความถูกต้องของค่าพิกัดทางดิ่งจากการรังวัดดาวเทียม เพื่อนำไปใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีสำรวจที่ทันสมัยในการดำเนินงานของเหมืองแทนวิธีดั้งเดิม และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากผลงานการปรับปรุงกระบวนการลำเลียงวัตถุพลอยได้ด้วยสายพานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองและการร่วงหล่นตามแนวสายพาน
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทการทำเหมืองถ่านหินแบบเปิด (Surface Coal Mining) จากผลงานการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน (Transformation to Sustainability) ของ เหมืองแม่เมาะ กฟผ. ซึ่งให้ความสำคัญกับมาตรการควบคุมผลกระทบทั้งฝุ่น กลิ่น เสียง การสั่นสะเทือน และคุณภาพน้ำ รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนในการตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (CCT Utilization for Power Generation Category (Large) จากผลงานนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ สะท้อนการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทำให้คุณภาพอากาศโดยรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะดีกว่าที่มาตรฐานกฎหมายไทยกำหนดและได้รับการยอมรับในระดับสากล

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านอนุรักษ์พลังงาน ประเภทอาคารเขียว (Green Building) อาคารขนาดใหญ่ ได้รับจากอาคารศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี ซึ่งออกแบบโดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานอาคารเขียวของประเทศสหรัฐอเมริกา (LEED) ในระดับ Platinum ซึ่งเป็นระดับสูงสุด โดยก่อนหน้านี้อาคารศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ยังได้รับรางวัลดีเด่น Thailand Energy Awards 2021 ด้านอนุรักษ์พลังงาน ประเภทอาคารสร้างสรรค์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (อาคารใหม่) อีกด้วย

Advertisment