กบน.อนุมัติขยายกรอบวงเงินตรึงราคา LPG เพิ่มเป็น 20,000 ล้านบาท

- Advertisment-

คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติขยายกรอบวงเงินชดเชยราคา LPG เพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท รวมเป็น 20,000 ล้านบาท หลังใช้เงินอุ้มราคา LPG ไปแล้วกว่า 17,762 ล้านบาท เกือบเต็มกรอบวงเงินเดิม 18,000 ล้านบาท ในขณะที่ราคา LPG โลกยังพุ่งสูง 800 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ซึ่งคาดว่าวงเงิน 20,000 ล้านบาท จะช่วยพยุงราคา LPG ได้ถึง ม.ค. 2565 พร้อมเตรียมแผนกู้เงินเติมเข้ากองทุนฯอีก 20,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2564 มีมติขยายกรอบวงเงินบัญชี LPG เพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท จากกรอบเดิม 18,000 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบันมีกรอบวงเงินที่สามารถใช้ชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ได้รวมไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้ตรึงราคา LPG ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัมได้นานถึงเดือน ม.ค. 2565

ทั้งนี้ที่ประชุม กบน. อนุมัติขยายกรอบวงเงินบัญชี LPGเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้เงินเพื่อชดเชยราคา LPG ไปแล้วกว่า 17,431 ล้านบาท และเหลือเงินเพียง 569 ล้านบาท ซึ่งไม่อาจดูแลราคา LPG ได้จนถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 2564 ตามมติเดิมของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2564 ที่กำหนดให้ตรึงราคา LPG ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ไปจนถึง 31 ธ.ค. 2564

- Advertisment -

และแนวทางการขออนุมัติใช้เงิน ในส่วนเงินกู้เพื่อเยียวยาผลกระทบโควิด-19 จากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เพื่อใช้ชดเชยราคา LPG แทนการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันในบัญชี LPG นั้น ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการพอสมควร ไม่สามารถได้เงินมาใช้รับมือสถานการณ์ราคา LPG โลกปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 800 เหรียญสหรัฐฯต่อตันได้ทัน จึงต้องขยายเพิ่มกรอบวงเงินดังกล่าว เพื่อให้มีเงินชดเชยราคา LPG ได้ต่อเนื่องในระหว่างรอทางสภาพัฒน์ฯอนุมัติ

โดย ณ วันที่ 3 ต.ค. 2564 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเหลือเงินสุทธิ 10,970 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินในบัญชีน้ำมัน 28,732 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 17,762 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละเดือนจะมีเงินไหลออกประมาณ 2,237 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินไหลออกจากการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ 758 ล้านบาท และเงินไหลออกจากการดูแลราคา LPG จำนวน 1,480 ล้านบาท ซึ่งเงินในกองทุนน้ำมันฯ 10,970 ล้านบาท คาดว่าจะดูแลราคาพลังงานได้ถึง มี.ค. 2565

อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีพลังงานได้เห็นชอบให้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เตรียมความพร้อมสำหรับกระบวนการกู้เงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว ซึ่งขณะนี้ สกนช.ได้เริ่มดำเนินการรวบรวมข้อมูลเพื่อกู้เงินตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้กู้เงินได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท และกองทุนฯต้องมีเงินรวมไม่เกิน 40,000 ล้านบาท เพื่อดูแลราคาพลังงานทั้งน้ำมันและLPG ที่ขณะนี้ราคาผันผวนปรับขึ้นสูงมาก

ทั้งนี้ กบน.จะพยายามตรึงราคาน้ำมันและLPG โดยใช้เงินกองทุนฯ ที่เหลืออยู่ต่อไปจนกว่าจะถึงเดือน ม.ค. 2565 ซึ่งคาดว่าจะเป็นเดือนที่เศรษฐกิจประเทศกลับมาฟื้นตัว และสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง จึงจะเริ่มกลับมาพิจารณาแนวทางปรับขึ้นราคา LPG แบบขั้นบันได ไตรมาสละ 1 บาทต่อกิโลกรัม จาก 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ไปเป็น 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เนื่องจากที่ผ่านมามีการช่วยเหลือตรึงราคา LPG มาตั้งแต่ มี.ค. 2563 เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 ที่แต่เดิมกำหนดจะดำเนินการแค่ระยะสั้น แต่เมื่อโควิด-19 ระบาดรุนแรงขึ้นจึงตรึงราคามาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือว่าช่วยเหลือมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว

นอกจากนี้หากราคาน้ำมันโลกปรับลดลง ทางกองทุนฯ อาจพิจารณาเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯจากผู้ใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นได้ และใช้มาตรการลดการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องดูสถานการณ์ที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อประชาชนมากเกินไป

Advertisment

- Advertisment -.