กบง.ไฟเขียวแผน LNG Hub ที่ปตท.ศึกษา คาดเริ่มทดลองให้บริการไตรมาสแรก2563

- Advertisment-

คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) รับทราบแผนผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขาย LNG ของภูมิภาคอาเซียน (Regional LNG Hub) ที่ปตท.นำเสนอ ตั้งเป้าเริ่มทดสอบการให้บริการไตรมาสแรกปี 2563 และดำเนินการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบปลายปี 2563 เผยช่วยสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้ 1.65 แสนล้านบาท ใน 10 ปี และเกิดการจ้างงาน 1.6 หมื่นคนต่อปี

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)เมื่อวันที่4ธ.ค.2562 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขาย LNG ของภูมิภาคอาเซียน (Regional LNG Hub) ซึ่งเป็นผลการศึกษาที่บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาไทยให้เป็น Regional LNG Hub หรือศูนย์กลางการประกอบธุรกิจซื้อ-ขาย LNG ภายในภูมิภาคอาเซียน

โดยคาดว่าจะเริ่มทดสอบกิจกรรมการให้บริการต่างๆ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 เช่น ระบบบริการขนถ่าย LNG (Reload System) การให้บริการเติม LNG แก่เรือที่ใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงในการเดินเรือ (Bunkering) และทำการตลาดเพื่อสื่อสารให้กับผู้ค้า LNG เข้ามาใช้บริการ ในช่วงไตรมาสแรก ของปี 2563 และจะเริ่มทดลองค้าขาย LNG เชิงพาณิชย์ อย่างเต็มรูปแบบประมาณปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 เป็นต้นไป พร้อมทั้งจะมีการทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคและระดับสากล ต่อไป

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม กบง.ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.),คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ร่วมกันศึกษาแผนงานเพื่อให้เกิดการปฏิบัติจริงได้ตามแผนในปี 2563 โดยแผนดังกล่าวจะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ในวันที่ 16 ธ.ค. 2562 นี้

สำหรับการเป็น Regional LNG Hub ดังกล่าวจะทำให้ไทยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ LNG เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพิ่มการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม และจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทยโดยรวมประมาณ 165,000 ล้านบาทในช่วง 10 ปี (ปี 2563-2573)  รวมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานเฉลี่ยในประเทศเพิ่มขึ้น 16,000 คนต่อปี และช่วยลดภาระการส่งผ่านอัตราค่าบริการไปยังค่าไฟฟ้าด้วย

ทั้งนี้ไทยนับเป็นประเทศที่มีศักยภาพเป็น Regional LNG Hub  เนื่องจากมีความต้องการใช้ก๊าซฯโดยเฉลี่ยต่อปีสูง โดยปี 2562 มีการนำเข้าLNG ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี, ในขณะที่ด้านภูมิศาสตร์ยังตั้งอยู่ศูนย์กลางของประเทศที่มีความต้องการ LNG ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เมียนมาร์ กัมพูชา เวียดนาม ซึ่งคิดเป็น 60% ของปริมาณการซื้อ-ขาย LNG ในโลก และยังมีความต้องการ LNG สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับที่หลากหลาย เช่น การขนถ่าย LNG จากเรือ การให้บริการกักเก็บ LNG ในถังกักเก็บ การแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซธรรมชาติส่งผ่านลูกค้าในประเทศ เป็นต้น

Advertisment